เมื่อพรรคอนาคตใหม่ใช้เวทีรัฐสภา เปิดหน้า ท้าทาย สถาบันพระมหากษัตริย์ “สิ่งที่ตามมา” คืออะไร?
.
โดยดร.เวทิน ชาติกุล สถาบันทิศทางไทย
.
(1)
7 ปีที่แล้ว
18 มี.ค.55 บนเวทีเสวนาในงานแขวนเสรีภาพฯ ปิยบุตร แสงกนกกุล (ซึ่งยังเป็นนักวิชาการอยู่ในขณะนั้น) ได้กล่าวว่า
“…ยุคปัจจุบันสถาบันกษัตริย์จะอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ ปัจจัยสำคัญคือ การปรับตัวให้เข้ากับประชาธิปไตย ถามว่าทำไมต้องให้สถาบันกษัตริย์ปรับ ไม่ใช่ ประชาธิปไตยปรับตัวเข้าหาสถาบันกษัตริย์บ้าง คำถามนี้อยู่ที่ว่าท่านจะเลือกอะไร ถ้าเลือกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สถาบันการเมืองทั้งหมดซึ่งรวมถึงสถาบันกษัตริย์ด้วยต้องปรับให้เข้ากับประชาธิปไตย ถ้าปรับไม่ได้ผลก็คือสถาบันนั้นจะหายไปเอง… “(ปิยบุตร แสงกนกกุล. 18 มีนาคม 2555)
7ปีต่อมา
17 ตุลาคม 2562
ปิยบุตร แสงกนกกุล(ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่) พูดอภิปราย “พ.ร.ก.โอนกำลัง” ในรัฐสภาโดยระบุว่า
“…พรรคอนาคตใหม่ และผมยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข การอภิปรายของตนเป็นไปเพื่อยืนยันอำนาจของสภาตามรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร รักษาระบบรัฐสภา และที่สำคัญที่สุดนี่คือการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข…” (ปิยบุตร แสงกนกกุล. 17 ตุลาคม 2562)
ข้อความทั้งสองข้างต้นเนื้อหา เจตนา และ อุดมการณ์ต่างกันไปโดยสิ้นเชิง จนแทบไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่พูดจะเป็นคนคนเดียวกัน หรือ ผู้พูดจะเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนอุดมการณ์จากดำเป็นขาวได้ในเวลาที่ห่างกัน 7 ปี
(2)
ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะ วันที่ 12 ตุลาคม 2562 ปิยบุตร ได้บรรยายตอบโต้การบรรยายของ ผบ.ทบ.ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น 1 วันว่า
“…ในโลกยุคสมัยใหม่ได้เกิดชาติแบบใหม่ ซึ่งเรียกว่า Secularization of state แต่ก่อนองค์ประธานที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐคือพระเจ้า พระมหากษัตริย์ และผู้นำทหาร แต่โลกยุคปัจจุบันต้องถอดรื้ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ออกจากองค์ประธานแล้วสร้างอำนาจสูงสุดใหม่คือประชาชน “ต้องสร้างประชาชนเพื่อให้ประชาชนมาเป็นผู้สร้างชาติ ชาติจึงเท่ากับประชาชน ประชาชนจึงเท่ากับชาติ ไม่มีประชาชนก็ไม่มีชาติ…”
(ปิยบุตร. 12 ตุลาคม 2562. บรรยาย แผ่นดินของเรา ในมุมมองประชาธิปไตย)
ซึ่งเป็นกระบวนความเดียวกันกับสิ่งที่เขาเชื่อ คิด และพูด เมื่อ 7 ปีที่แล้วดุจเดิม
(3)
ประเด็นก็คือเราจะเข้าใจ “ความจงรักภักดี” ของปิยบุตร จากกรณีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ได้อย่างไร?
(4)
สิ่งที่ต้องรู้ก็คือ ” พ.ร.ก.โอนกำลัง” เป็นสิ่งที่กองทัพและรัฐบาลทำเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ดังปรากฏเหตุผลในท่อนท้ายของ พ.ร.ก. ว่า
“….เพื่อสนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการ ถวายอารักขา และถวายพระเกียรติ และการรักษาความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และ พระราชอาคันตุกะ รวมทั้งให้การปฏิบัติภารกิจทั้งปวง ตามพระราชอัธยาศัย และตามพระราชประเพณี เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด…”
และเพื่อให้กำลังพลสามารถสนองงานช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น เมื่อคราวน้ำท่วมที่อีสาน หน่วยงานในพระองค์ลงพื้นที่ก่อนและอยู่ซ่อมแซมบ้านเรือนราษฎรที่ได้รับความเสียหายจนลุล่วง
ดังที่ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดขณะนำคณะเยี่ยมผู้ประสบภัยที่ืจังหวัดอุบล ว่า
“สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชบายในการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับรัฐบาลด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งเราได้ดำเนินการตามแผนมาทั้งหมด และได้กราบบังคมทูลให้พระองค์ทรงทราบแล้ว พระองค์ทรงห่วงใยและให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะจิตอาสาที่ช่วยประชาชน” (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ 22 กันยายน 2562)
(5)
แต่ ปิยบุตร และ พรรคอนาคตใหม่ กลับมองว่า “การถวายความจงรักภักดี” ดังกล่าว เป็น “การใช้อำนาจกระทำการใดเพื่อทำให้คนคิดว่าพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ” และ การตรา พ.ร.ก.(โอนกำลัง) เป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ ครม.ตาม ม.172 โดยที่ (อนาคตใหม่ มองว่า) ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ (ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนจริง) เป็นการใช้อำนาจ “ม.44 จำแลง” เพราะ นายกฯ” เสพติดการใช้อำนาจพิเศษ” และเป็น “โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ”
(6)
สรุปก็คือ ปิยบุตร มองว่า
(6.1)-การออก พ.ร.ก. เพื่อสนับสนุน “ภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการ ถวายอารักขา และถวายพระเกียรติ และการรักษาความปลอดภัย” ที่รัฐบาลและกองทัพถวายต่อพระมหากษัตริย์ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
(6.2)-ภารกิจในส่วนงานดังกล่าว “กระทรวงกลาโหมมีหน้าที่อยู่แล้ว สั่งการหน่วยงานในสังกัดท่านได้ ดังเช่นที่รัฐบาลที่ผ่านๆ มาได้เคยปฏิบัติ”
(6.3)-การถวายงานถวายอารักขา ถวายพระเกียรติ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยรัฐบาล ถ้าไม่ชัดเจนว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน และ ถึงไม่ตรา พ.ร.ก. ก็ไม่มีผลกระทบเสียหายร้ายแรง ก็ไม่จำเป็นต้องทำ?
“…ครม.จำเป็นต้องแสดงข้อเท็จจริงให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ทราบว่า ณ วันที่ท่านออก พ.ร.ก. นั้น มีเรื่องอะไรกระทบการถวายอารักขา การถวายพระเกียรติ และการรักษาความปลอดภัย มีเรื่องอะไรฉุกเฉิน หรือทันทีทันใด มีเหตุใดจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก. ฉบับนี้ และหากไม่ตรา จะเกิดผลกระทบร้ายแรง” (ปิยบุตร แสงกนกกุล. 17 ตุลาคม 2562)
(6.4)-รัฐบาลทำตามรัฐธรรมนูญ สำคัญกว่า รัฐบาลถวายงานถวายอารักขา ถวายพระเกียรติ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
(6.5)-รัฐบาลละเมิดรัฐธรรมนูญ เท่ากับ ไม่จงรักภักดี????
“…การแสดงออกซึ่งความจงรักดีมิใช่ชี้หน้าด่าคนอื่นว่าไม่จงรักภักดี การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีมิใช่การใช้อำนาจกระทำการใดเพื่อทำให้คนคิดว่าพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ…” (ปิยบุตร แสงกนกกุล. 17 ตุลาคม 2562)
(6.6)-ส่วนตน(ปิยบุตร)และพรรคอนาคตใหม่ นั้นมีความจงรักภักดี เพราะ ทำตามรัฐธรรมนูญ..????
(7)
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ปิยบุตร ได้ใช้รัฐสภาฯและนอกรัฐสภาฯเพื่อขับเคลื่อนประเด็น”คาบลูกคาบดอก” และ”กระทบกระทั่ง” สถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เข้าสภามา 6 เดือน
(7.1) Kick Off แก้รัฐธรรมนูญ แตะหมวดพระมหากษัตริย์
4 สิงหาคม 2562 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้บรรยายในเวทีเสวนา จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ โดยธนาธรได้ “ตีกรอบ” การแก้รัฐธรรมนูญเอาไว้ 4 ข้อ ซึ่งในข้อหนึ่งและข้อสอง คือ “..1.ประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และ 2.พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญมีพระราชฐานะอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง…”
ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยทุกฉบับให้สถานะของพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองอยู่แล้ว หรือว่าธนาธรและพรรคอนาคตใหม่คิดเห็นเป็นอย่างอื่นจึงได้พูดเรื่องนี้ขึ้นมา
(7.2) รัฐธรรมนูญเฮงซวยทุกหมวด
15 กันยายน 2562 น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวในการจัดเสวนา “รัฐธรรมนูญนี้เพื่อใคร? รัฐธรรมนูญใหม่เพื่อคนไทยทุกคน” (ที่จัดร่วมกับ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน) ที่วิทยาลัยการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามว่า
“…มีคนพูดเยอะจะแก้รัฐธรรมนูญหรือร่างใหม่ทั้งฉบับ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่สมควรทำ เพราะรัฐธรรมนูญนี้เฮงซวยทุกมาตรา กระบวนการไม่ชอบธรรม ไม่มีประชาชนไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีความชอบธรรมต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ ด้วยการให้ประชาชนเข้าไปร่วม…”
โดยที่ในความเป็นจริงแล้วเนื้อหาของรัฐธรรมนูญปี 60 ได้จำกัดอำนาจของพรรคการเมือง และนักเลือกตั้ง (โดยระบบนับคะแนนแบบสัดส่วนผสม) รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง (ไพรมารี่โหวต) มากกว่ารธน.ฉบับอื่นๆ
ซึ่งต่อมาแม้ พรรณิการ์ จะออกมาแก้ต่างว่า พูดถึง “ที่มา” ไม่ใช่ “เนื้อหา” แต่นั่นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เนื้อหา” ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับนั้นมีมาตราสำคัญคือ มาตราที่เกี่ยวกับ พระมหากษัตริย์
(7.3) อภิปรายในสภาฯเรื่อง “ปมถวายสัตย์”
18 กันยายน 2562 ปิยบุตรใช้รัฐสภาอภิปราย(แบบไม่ลงมติ) ประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากที่เป็นผู้เปิดประเด็นนี้มาตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 (วันที่ครม.แถลงนโยบาย)
โดยที่ไม่สนใจข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมีรับสั่งเพื่อรับคำถวายสัตย์แล้ว (แม้จะมีถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ) แต่พึงต้องถือว่าพิธีการในส่วนของการถวายสัตย์เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว อีกทั้งปิยบุตรยังเสนอให้นายกฯและคณะรัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ใหม่ให้ครบซึ่งเป็นการแสดงนัยละลาบละล้วงต่อพระราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์อีกด้วย
(7.4) ร่วมวงนักวิชาการเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1
28 กันยายน 2562
7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเปิดเวทีรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญสัญจรครั้งที่ 4 ที่จังหวัดปัตตานี บนเวทีมีธนาธรร่วมอภิปรายด้วย โดยนางชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรฯได้กล่าวว่า “…การแก้ปัญหาของประเทศไทยอาจไม่ต้องอยู่แบบรัฐเดี่ยวหรือรวมศูนย์ก็ได้ การแก้รัฐธรรมนูญอาจแก้มาตรา1ด้วยก็ไม่เห็นแปลกอะไร…” (มติชน.28 ก.ย.2562)
จนนำไปสู่การฟ้องของหน่วยงานความมั่นคงต่อนักวิชาการและนักการเมือง12คนที่อยู่บนเวทีวันนั้น
ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1 นั้น ไม่ว่าจะทางทฤษฏีหรือปฏิบัติถือว่าเป็นไปไม่ได้เพราะ ในมาตรา 255 ระบุว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้”
แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่านักวิชาการที่พูดย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า มาตรา 1 มีคำว่า “ราชอาณาจักร” หมายถึงอาณาจักรที่มีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ (มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้)
แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นคำพูดของนักวิชาการ ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่โดยตรง แต่ต้องถือว่าพูดบนเวทีที่จัดโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าพรรคไหนที่เชิญนางชลิตาไปพูด) แต่เมื่อดูถึงความเกี่ยวข้องก็พบว่านางชลิตาอยู่ในกลุ่มนักวิชาการหัวก้าวหน้าที่ประกาศตัวสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ มาอย่างต่อเนื่อง
(7.5) อภิปรายในสภาฯเรื่อง พ.ร.ก.โอนกำลัง (ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น)
ยิ่งไปกว่านั้นคือ การยกมือโหวตคัดค้าน พ.ร.ก.โอนกำลัง ของ 70 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่
ที่ยกระดับ “อุดมการณ์” ของ “ตัวบุคคล” มาเป็น “อุดมการณ์” ของพรรคในเวทีรัฐสภา
ตรงนี้มีนัยอันสำคัญยิ่ง
(8)
การทำความเข้าใจความเคลื่อนไหวทางการเมือง มิอาจดูได้เพียงจากการแสดงออกหรือคำพูดต่อสาธารณะ แต่หากจำเป็นต้องดูให้ลึกถึงรากฐานทางความคิด และพฤติกรรมสืบเนื่อง
(9)
พรรคอนาคตใหม่ ต่างจากพรรคการเมื่อทั่วไปก็คือ จุดเริ่มต้นของพรรค คือ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองที่ก่อตัวขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 โดยในขณะนั้น ธนาธร เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆของ “เครือข่ายทักษิณ” ส่วน “ปิยบุตร” ก็เป็นเพียงนักวิชาการในกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งตอนนั้นทั้งสองคนยังไม่มีใครรู้จัก
การเคลื่อนไหวของ “ฟ้าเดียวกัน” และ “นิติราษฎร์” แม้ว่าจะถูกจับตา แต่ก็เป็นเพียงสีสันเป็นตัวประกอบของกองทัพที่เครือข่ายทักษิณใช้ต่อต้านฝ่ายอำนาจซึ่งขณะนั้นมีพรรคเพื่อไทยและนปช.เป็นกองทัพหลัก
ถามกันในห้วงเวลาตอนนั้นถ้า ธนาธรและปิยบุตร จะตั้งพรรคการเมือง ก็คงจะมีคนหัวเราะเยาะ แต่วันนี้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ฐานมวลชนเปลี่ยน การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ (ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นปัจจุบัน) ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่ออำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ภายนอก (เช่นที่ ธนาธร พาดพิงถึงทักษิณในศาลฯ) แต่เกิดจากความปรารถนาอำนาจด้วยเป้าประสงค์อีกแบบหนึ่ง
เพื่อยกระดับการเคลื่อนไหวจาก ขบวนการทางสังคม ให้เป็น สถาบันทางการเมือง
เพื่อใช้ตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติ ใช้รัฐสภา เป็นเวที เป็นแนวรบ ขับเคลื่อนนำเสนอ “เนื้อหา” ที่ตนอยากนำเสนอได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
(10)
รากความคิดของพรรคอนาคตใหม่คืออะไร? ธนาธร พูดเองเอาไว้อย่างชัดเจน
ดร.สุวินัย ภรณวลัย (ไทยโพสต์.11 เมษายน 2562) กล่าวว่า ผลงานหนังสือ ” Portrait ธนาธร” (ตุลาคม 2018) คือเครื่องพิสูจน์อย่างดี…ธนาธรเป็นคนที่ชัดเจนมากในความคิดของตัวเอง เขาบอกว่า
“ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด เป้าหมายสูงสุดคือการเปลี่ยนประเทศ” (หน้า 270)
ธนาธรตระหนักดีว่า สิ่งที่เขาพูด เขาทำ มีคนฟัง มีคนเอาด้วย เห็นด้วยกับเขา (หน้า 272)
ธนาธรมองว่า คุณสมบัติสำคัญของผู้นำประเทศ คือต้องมีเจตจำนงทางการเมืองเป็นหลัก เมืองไทยมีคนเก่งกว่าเขาเยอะแยะไปหมด
แต่มีตัวเขาคนเดียวเท่านั้นที่มีเจตจำนงทางการเมืองที่ต้องการ “ให้ไทยออกจากวังวนของเผด็จการ วังวนของอำนาจนิยมที่รับใช้ชนชั้นนำให้ได้” (หน้า 273)
ธนาธรไม่เคยมองว่าตำแหน่งนายกฯ คือ ลิมิตสูงสุดของตัวเขา
ในฐานะผู้นำทางการเมือง ธนาธรมุ่งเป้าไปที่การทำให้ตัวเขา “มีอำนาจมากพอที่จะไปต่อรอง (กับ)××××”
(หน้า 277)
เขายอมรับว่าในการเคลื่อนไหวสร้างพรรคหาเสียง เขาพูดความจริงได้แค่ครึ่งเดียว ที่เขาพูดออกไปให้สังคมรับรู้ “ไม่เป็นความจริง มันเป็นความจริงแค่ครึ่งเดีบว เราถึงโดนฝ่ายก้าวหน้าด่า” (หน้า 277)
“ถามว่าเรารู้มั้ย รู้
เหี้ย มันก็รู้เหมือนกันหมดแหละ ปัญหาคือใครจะทำยังไง
เราคิดว่า วิธีการของเราคือต้องมีอำนาจและต่อรอง (กับ)××××
นี่ต่างหากคือเป้าหมาย ถ้าจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ เอาทหารออกจากการเมืองไม่ได้หรอก
จัดการเรื่องนี้ไม่ได้ จัดการเรื่องศาลไม่ได้หรอก
จัดการเหี้ยห่าอะไรไม่ได้
ถามว่าเรารู้มั้ย สิ่งที่เราพูดโดยไม่พูดเรื่องนี้ มะนไม่จริง มันเป็นไปไม่ได้
ถามว่ารู้มั้ย รู้ แต่มันพูดไม่ได้ ยังมีข้อจำกัด ” (หน้า 277)
ตรงนี้แหละ คือ ความจริงอย่างที่สุดในความคิดและตัวตนของธนาธร เพราะเขาคือนักปฏิวัติที่มีเจตจำนงแรงกล้าที่ต้องการสานต่อภารกิจการปฏิวัติ 2475ให้สมบูรณ์
จึงไม่แปลกที่เมื่อธนาธรเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปิยบุตรจึงต้องเป็นเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เพราะมีอุดมการณ์ปฏิวัติ 2475 เหมือนกัน
ธนาธรคือผู้นำทางการเมืองคนเดียวในประทศนี้ตอนนี้ ที่ขีดเส้นแบ่งชัดเจนให้ประชาชนต้องตัดสินใจเลือกข้างว่าจะเลือกอยู่ฝั่งเดียวกับเขาแล้วช่วยกันผลักดันการปฏิวัติ 2475 ให้สำเร็จต่อไปหรือไม่…” (สุวินัย ภรณวลัย. 11 เมษายน 2562)
(11)
ส่วน ศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง (21.ตุลาคม 2562) อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นว่า
“…เป้าประสงค์ที่แท้จริงของการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองของพรรค….ได้เปิดเผยออกมาเรื่อยๆ…
…การได้อำนาจ(จากจำนวน ส.ส.)เพื่อมาต่อรองกับ xxxx ตอนนี้ก็ชัดเจนมากขึ้นแล้วว่า xxxx นี้หมายถึงใคร…”
เมื่อพิจารณาจากการอภิปรายของปิยบุตรในรัฐสภาจะพบว่า
“…เหตุผลเรื่องความเร่งด่วน-ไม่เร่งด่วน หรือ นายกฯเสพติดใช้อำนาจพิเศษ เป็นสิ่งที่อนาคตใหม่ใช้เป็นข้ออ้างเท่านั้น จริงๆแล้วมีเหตุผลแฝงเร้นอย่างอื่นหรือไม่? หากแต่ต้องการ “ด่านายกฯ” เพื่อไปกระทบ xxxx หรือไม่?….ถ้าไม่ผ่านแล้ว xxxx เสียหาย? และ xxxx มีสำคัญต่อสังคมไทยอย่างไร?…” (*)
(12)
ซึ่งดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นถึงการใช้ฐานะพรรคฝ่ายค้าน และ รัฐสภา เป็นเวที เป็นแนวรบที่มีความชอบธรรมที่จะขับเคลื่อน “อุดมการณ์” ที่แท้จริงของตน ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลแฝงเร้นที่ซ่อนอยู่ใต้ข้ออ้าง เรื่อง ปกป้องรัฐธรรมนูญ(ที่ตนเองบอกว่าเฮงซวย) หรือเบื้องหลังคำพูดว่า “จงรักภักดี’ ก็ตาม
4 สิงหาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่เสนอแก้รัฐธรรมนูญ วางกรอบ – แตะหมวดพระมหากษัตริย์
15 กันยายน 2562 โฆษกพรรคกล่าวว่ารัฐธรรมนูญเฮงซวยทั้งฉบับ – แตะหมวดพระมหากษัตริย์
18 กันยายน 2562 พรรคอนาคตใหม่อภิปรายปมถวายสัตย์ไม่ครบ – แตะหมวดพระมหากษัตริย์ (โดยนัย)
28 กันยายน 2562 พรรคอนาคตใหม่ร่วมเวทีนักวิชาการเสนอแก้มาตรา 1- แตะหมวดพระมหากษัตริย์ (โดยนัย)
17 ตุลาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่อภิปราย พ.ร.ก.โอนกำลัง – แตะหมวดพระมหากษัตริย์ (โดยนัย)
17 ตุลาคม 2562 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่70 คน โหวต “ไม่เห็นด้วย” กับ พ.ร.ก.โอนกำลังฯ
(13)
ในข้อเขียนของ ดร.ชวินทร์ อธิบายการมีอยู่ของสถาบันในสังคมไว้อย่างน่าสนใจ
“… สถาบัน (institution) มีความจำเป็นต่อสังคมทุกสังคมเพราะเป็น ทุนทางสังคม (Social Capital) ที่ยึดเหนี่ยวคนในสังคมเอาไว้
การมีขอบเขต-ไม่ว่าจะเป็นประเพณี/ระเบียบปฏิบัติ/กฎหมาย-ที่จำกัดการกระทำของคนในสังคมเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จึงก่อให้เกิดสถาบันขึ้นมา
ตัวอย่างขอบเขตที่ว่านี้เช่น พ่อไม่เอาลูกสาวเป็นเมีย/ลูกต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ จึงก่อให้เกิดสถาบันครอบครัวขึ้นมา ทหารก็ต้องมีวินัยซึ่งไม่ใช่กฎหมายเอาไว้กำกับดูแลมิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นกองโจร
ขณะที่แก๊งค์นอกกฎหมาย เช่น มาเฟีย/ยากุซะ อาจจะมีธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติแต่ก็ไม่ก่อให้เกิดสถาบันขึ้นมาเพราะมีประโยชน์เกิดขึ้นเฉพาะคนส่วนน้อยในกลุ่มแก๊งค์ของตนเองเท่านั้นไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่
สถาบันนักการเมืองไทยก็ไม่มีเช่นกันเพราะนักการเมืองไทยส่วนใหญ่มิได้พยายามที่จะยึดกฎระเบียบที่มีกำกับเอาไว้หากขัดกับประโยชน์ส่วนตน
ดังนั้นยิ่งมีสถาบันเกิดขึ้นมากเท่าใดในสังคม สังคมนั้นก็ย่อมได้ประโยชน์มากขึ้นตามไปด้วย
สถาบัน xxxx. ที่พรรค….กำลังด้อยค่าในปัจจุบันและพยายามถอดรื้อต่อไปในอนาคต หากพรรคมีอำนาจจึงเป็นเป้าหมายที่แท้จริงใช่หรือไม่?
ถ้ารื้อทิ้งแล้วจะมีประโยชน์อันใดขึ้นมากับสังคม จะเอานักการเมืองที่ไม่เป็นสถาบันมาให้ประชาชนยึดเหนี่ยวทดแทนได้อย่างนั้นหรือ?…”(*)
(14)
17 ตุลาคม 2562
หลังจาก 70 ส.ส. อนาคตใหม่ โหวตคว่ำ พ.ร.ก.โอนกำลังฯ “ชัยธวัช ตุลาธน” รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ผ่านเฟสบุคว่า
“..วันนี้พรรคอนาคตใหม่เลือกแล้วที่จะยืนอยู่กับประชาชน วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ขอให้เจตจำนงของประชาชนเป็นผู้ตัดสิน” (ชัยธวัช ตุลาธน.17 ตุลาคม 2562)
ขณะที่ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่ ที่โหวตสวนยกมือเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.โอนกำลังฯ
มีผู้ใช้เฟสบุครายหนึ่งนำข้อความที่อ้างว่าน.ส.กวินนาถเคยโพสต์ไว้ในเฟสบุคชื่อ กวินนาถ ตาคีย์ โดยข้อความนั้นได้แชร์ข่าวมาจากสื่อ ก่อนโพสต์ระบุตามภาพว่า
“ธ สถิตในดวงใจ”
กวินนาได้ถูกกดดันจากทางพรรค ถูกให้งดทำกิจกรรม และถูกตั้งกรรมการสอบ
ถึงวันนี้ไม่ว่าจะมีเหตุผลประการใด เหตุผลเปิดเผยหรืออำพรางอะไรเอาไว้หรือไม่ก็ตาม ข้อพิจารณาต่อเหตุผลดังกล่าวจะถูกจะผิดหรือไม่ก็ตาม โดยพฤตินัยที่พรรคอนาคตใหม่ได้แสดงออกมานั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ใช่เพียงความคิดของ “ตัวบุคคล” อย่าง ธนาธร ปิยบุตร พรรณิการ์ อีกต่อไป
แต่เป็น “พรรคอนาคตใหม่” และ ส.ส.70 คนของพรรคที่ ใช้เวทีรัฐสภา เปิดหน้า ท้าทาย สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเปิดเผย
ซึ่งแม้พรรคที่มีอุดมการณ์อย่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ไม่สามารถและไม่เคยทำได้เช่นนี้มาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
(15)
ในทุกสังคมเป็นปกติที่ไม่มีใครเห็นทุกเรื่องตรงกันหมด และเป็นธรรมดาที่ต้องมีขั้วความคิดที่ตรงกันข้ามอยู่เสมอ ในด้านหนึ่งนั้นความตรงข้ามของสังคมคือพลวัตขับดันให้สังคมเคลื่อนไปข้างหน้า
แต่ในอีกด้านนั้นหากไม่มีการจัดการขั้วความคิดที่ตรงข้ามให้ดี ขั้วตรงข้ามก็อาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้ง ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นการห้ำหั่นประหัตประหารกันเองของคนในสังคมไทย
การใช้อำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติของพรรคอนาคตใหม่เพื่อท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่าง “เปิดเผย” ในลักษณะนี้ อาจถูกมองจากนักวิชาการ หรือปัญญาชนหัวก้าวหน้า ว่าเป็นการสร้างพลวัตให้การเมืองหรือกฎหมายไทยตราบเท่าที่ยังอยู่ในกรอบ ในกติกาของการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
แต่สังคมมีความสลับซับซ้อน ไม่ได้มีเพียงมิติเดียวอย่างที่นักวิชาการมอง
สิ่งที่ต้องพึงตระหนักคือ “ผลตามมา” ที่ไม่อาจคาดคิดและควบคุมไม่ได้
จะอยาก-ไม่อยาก ทุกสังคมมีจุด “คลั่งบ้า” ของมันอยู่
(16)
ยกตัวอย่างจาก “ปรากฏการณ์ หนุ่มหัวร้อน” ที่เพิ่งเป็นข่าวใหญ่ในสังคมไทย
การกระทบกระทั่งต่อ “สถาบันฯอันเป็นที่เคารพรัก” ด้านหนึ่งจะเกิดแรงเหวี่ยงในด้านกลับสำหรับคนที่ “รักชาติ” ซึ่งอาจควบคุมความโกรธแค้นของตนไม่ได้ จนกลายเป็นความคลั่งบ้า ดังที่ เพจ” อีเจี๊ยบ เลียบด่วน” ได้พูดถึงกลุ่มคน 200 คนที่ไปล้อมโรงพักว่า…
“…แว่นมันสติแตก พูดจา… กวน… เหยียดหยามคนอื่น โทษโดนไล่ออก ถูกดำเนินคดีที่มันทำ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว และตำรวจเค้าก็กำลังทำอยู่ในโรงพักแล้ว !!!
มันไม่ได้มีนักการเมืองหนุนหลัง มีคนใหญ่โตมาวิ่งเต้น มีทีมทนาย 15 คน มีการ์ด 30 คน มีกองกำลังติดอาวุธ 250 คน พร้อมชิงตัวมันหนี มันมีแค่ พ่อ แม่ เมีย มัน 4 คน ตัวจ่อยๆ แค่เนี้ย !!! …จะไปล้อมเฝ้าหน้าโรงพัก กันเป็นร้อย ๆ หา…เหรอ …ไปเพื่อ ?????
และที่พวก…บางคนทำ แล้วน่าอับอายที่สุด คือ ตอนพวก…เข้ามาล้อม มุง โห่ ตะโกนด่า เมียมันตอนที่กำลังจูงแม่มันออกจากโรงพักเพื่อจะกลับบ้าน อันเนี้ย…ส่ายหัวกะพวก…จริงๆ…
…ดูคลิปเดียวกะ…รึเปล่า !!!” (อีเจี๊ยบ เลียบด่วน.24 ตุลาคม 2562)
(17)
ขณะเดียวกันบัญชีเฟสบุคของผู้ใช้บัญชี “อั้ม อิราวัต” ได้โพสต์ข้อความว่า “6 ตุลา 2519-23 ตุลา 2562 #ประเทศกู”
โดยนำภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาเปรียบเทียบกับภาพกลุ่มคน 200 ที่ไปล้อมโรงพักเพื่อทำร้ายหนุ่มแว่นหัวร้อน ทั้ง ๆที่ ทั้งสองเหคุการณ์ไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใดแม้แต้น้อย
แทนที่จะช่วยกันเตือนสติ “กลุ่มเพจหรือบุคคลในโลกโซเซียล” ที่พร้อม “ปั่นกระแส” จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นี่คือการปลุกเร้าหรือโหมกระพือไฟความเกลียดชังกันเองให้ลุกลาม ซึ่งบางคนอาจมีความมุ่งหวัง “ความแตกหัก-สูญเสีย” ในบั้นปลาย (พวกนี้ต่างหากควรถูกเรียกว่าเป็น “ดาวสยาม 4.0”)
เหล่านี้คือ การผลิดอกออกผลของมิจฉาทิฐิ ที่พร้อมจะลุกลาม บานปลาย ให้กลายเป็นความสูญเสียได้ และเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมพึงต้องตระหนักรู้และระวัง ทั้งคนที่ “รักชาติ-รักเจ้า” ที่จะไม่ยอมให้ความรักที่มีตกไปเป็นเครื่องมือของใครต่อใคร และคนที่ “ชังชาติ-ไม่รักเจ้า” โดยเฉพาะการแสดงออกที่เจตนา “แตะ” ในเรื่องที่ “ละเอียดอ่อน” ในสังคม
ซึ่ง ธนาธร ปิยบุตร และพรรคอนาคตใหม่ ยากที่จะปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้า “สิ่งที่ได้ทำอยู่” นี้ในนาม “การยืนอยู่กับประชาชน” และ “วันข้างหน้า…ขอให้เจตจำนงของประชาชนเป็นผู้ตัดสิน” จะลากพาสังคมไทยไปลงเอยด้วย “สิ่งที่จะตามมา” ที่ไม่มีใครคาดคิดและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีกในสังคมนี้
………..
อ้างอิง
(*) บทความพิเศษจาก ศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง
อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน เพจ Suvinai Pornavalai (21.ตุลาคม 2562)