จากที่ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาฯนปช. จัดรำลึก 10 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมนปช. เมษา – พฤษภา 2553 โดยประสานงานกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ร่วมเขียนบทความรำลึกในวันที่ 19 พ.ค. ได้เชิญบุคคลหลากหลาย ทั้งนักวิชาการ อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์นั้น
ล่าสุดวันนี้(19พ.ค.63)เฟซบุ๊ก ยูดีดีนิวส์ – UDD news ได้โพสต์ข้อความเผยแพร่บทความของนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ถ้าประชาชนชนะในปี ๕๓ (๑๙ พ.ค. ๖๓) ซึ่งมีเนื้อหาขนาดยาว ดังนั้นจะขอนำบางช่วงตอนที่น่าสนใจมาเผยแพร่ดังนี้
แม้คำถามประเภท “ถ้า…” ไม่มีประโยชน์ที่จะทำให้เรารู้ว่าอะไรอุบัติขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ แต่มีประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยให้เราทำความเข้าใจกับอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วได้หลายอย่าง เช่นในบรรดาเงื่อนไขปัจจัยที่นำไปสู่อุบัติการณ์นั้นๆ เงื่อนไขปัจจัยอันใดมีความสำคัญที่สุด และอันใดมีส่วนช่วยสนับสนุน และยังช่วยให้เราหยั่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดมาก่อนหน้าอุบัติการณ์นั้น หรือหลังอุบัติการณ์นั้นได้กระจ่างขึ้น ฯลฯ เป็นต้น
ก่อนปี ๕๓ ชนชั้นนำกลุ่มใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังหรือสนับสนุนการรัฐประหารใน ๒๕๔๙ รู้อยู่แล้วว่า การเลือกตั้งที่ให้สิทธิอย่างเท่าเทียมแก่พลเมืองทุกคนจะให้ผลเป็นความเปลี่ยนแปลงที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของชนชั้นนำ อันที่จริงนี่เป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยทั้งหลาย แต่ชนชั้นนำในสังคมอื่นจะสั่งสมอำนาจที่”เนียน”กว่าในการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, หรือการเมือง
โดยหลีกเลี่ยงที่จะทำลายสิทธิเสมอภาคของการเลือกตั้งอย่างโจ่งแจ้ง แต่ชนชั้นนำไทยประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายกว่า ซ้ำยังไม่ได้กลืนเข้าหากันภายใต้วัฒนธรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนัก เช่นระหว่างครอบครัวเจ้าสัวที่ยังพูดไทยไม่ชัด เจ้าสัวที่ทั้งบิดา-มารดาได้เรียนจนจบจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ไปแล้ว และเจ้าสัวที่มีมารดาเป็นม.ร.ว. ครอบครัวเหล่านี้มีงานอดิเรกคนละอย่าง ฟังเพลงคนละชนิด อ่านหนังสือคนละเล่ม และสร้างเครือข่ายกันไปในหมู่คนต่างกลุ่มกัน (จึงถ้อยทีถ้อยเหยียดกันอยู่ในที)
ด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่สามารถพัฒนายุทธศาสตร์-ยุทธวิธีที่จะถ่วงดุลอาญาสิทธิ์ของการเลือกตั้งด้วยวิธีอื่นมากไปกว่าอำนาจดิบ นั่นคือที่มาของวงจรรัฐประหารในการเมืองไทย และวุฒิสภาจากการแต่งตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มีความมุ่งหมายที่จะทำลายกลไกถ่วงดุลการเลือกตั้งเหล่านี้ (โดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม) แต่รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ร่างขึ้นเพื่อนำเอากลไกดังกล่าวกลับมาใหม่เป็นบางส่วน โดยความเข้าใจว่าจะเพียงพอกับสถานการณ์ (มีวุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้งครึ่งเดียว และแยกการตัดสินใจของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาออกจากกัน)
ผู้นำของนปช.บางท่านกล่าวว่า ข้อเรียกร้องของฝ่ายประชาชนให้ยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ ทั้งในพ.ศ.๒๕๕๒ และ ๒๕๕๓ เป็นข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นได้ในทุกสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่รุนแรง (เช่นให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญซึ่งใช้บังคับอยู่) ข้ออ้างนี้ฟังดูจริงในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป แต่ในประเทศไทย การเลือกตั้งนั่นแหละคือตัวประเด็นหลักที่จะทำลายโครงสร้างอำนาจซึ่งดำรงอยู่มาตั้งแต่ ๒๔๙๐ ลงทั้งหมด การเลือกตั้งคือตัวปัญหาหลักที่ฝ่ายชนชั้นนำยังแก้ไม่ตก การเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ คือการบอกชนชั้นนำว่า “มึงถอยออกไป” นั่นเอง
ความรุนแรงที่ฝ่ายชนชั้นนำใช้ในการยุติข้อเรียกร้อง (ที่ฟังดูแสนปรกติธรรมดา) นี้ มักอธิบายกันว่า เป็นเพราะฝ่าย”เสื้อแดง“เลือกจะเสนอตนเองเป็นชนชั้นล่าง ซึ่งไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองและไม่ร่วมอยู่ในเครือข่ายไม่ว่าชิดใกล้หรือห่างไกลของชนชั้นนำเลย จึงทำให้ฝ่ายชนชั้นนำไม่มีความยับยั้งชั่งใจ หรือระงับความรุนแรงลงก่อนที่จะสูญเสียมากเกินไป อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเมืองไทย
แต่หากเรามองกลไกการควบคุมทางการเมืองซึ่งชนชั้นนำได้วางไว้ตั้งแต่ ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ก็จะเห็นได้ว่าฝ่ายชนชั้นนำก็ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากใช้ความรุนแรงอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ความรุนแรงจากการไล่ยิงประชาชนซึ่งปราศจากอาวุธเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงดึงเอากลไกรัฐทุกอย่าง โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมมารับใช้ระบอบอำนาจนิยมที่สถาปนาขึ้นจนหมดตัว และหมดทุน กลไกรัฐที่ถูกใช้ไปจนหมดตัวและหมดทุนเช่นนี้ ก็เป็นความ”รุนแรง”อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้ชนชั้นนำไทยไม่สามารถรองรับระบอบใดได้อีก นอกจากระบอบแห่งความรุนแรง
หากใช้ความเปรียบแบบฝรั่ง การปราบปรามประชาชนอย่างนองเลือดที่สุดซึ่งเกิดในปี ๒๕๕๓ คือการข้ามแม่น้ำรูบิคอนของชนชั้นนำไทย เช่นเดียวกับเมื่อจูเลียส ซีซาร์ตัดสินใจข้ามน้ำนั้นเพื่อปราบชนเผ่าเยอรมัน ชะตากรรมของตัวเขาเองและของกรุงโรมก็เปลี่ยนไปอย่างไม่มีทางหวนกลับไปเหมือนเดิมได้อีก
แม้แต่การรัฐประหารในปี ๒๕๕๗ และรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ก็เป็นผลมาจากความรุนแรงที่นำมาใช้ในปี ๒๕๕๓ นับเป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่ของชนชั้นนำกลุ่มนั้น เมื่อได้ตัดสินใจข้ามแม่น้ำรูบิคอนในปี ๒๕๕๓ มาเสียแล้ว ทั้งรัฐประหาร ๒๕๕๗ และรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ทำทุกอย่างโดยโจ่งแจ้ง ที่จะปลดอำนาจของการเลือกตั้งออกไปจนไร้ความหมาย ในขณะเดียวกันก็ไม่เหลือทางออกสำหรับการประนีประนอมใดๆ แก่ฝ่ายประชาชนด้วย
ความรุนแรงเป็นวงจรอุบาทว์ที่น่ากลัว ไม่ว่าฝ่ายใดก่อขึ้น ก็ต้องใช้ความรุนแรงเพื่อปิดโอกาสที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งใช้ความรุนแรงตอบโต้ พื้นที่แห่งความขัดแย้งจึงยิ่งขยายออกไปจนครอบงำทุกส่วนของสังคม ช่องทางแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติจึงยิ่งหดลง (เช่นยังเหลือเหยื่อความรุนแรงในปี ๕๓ สักกี่คนที่ยังคิดจะใช้วิธีการทางการศาล เพื่อบรรเทาบาดแผลของตน)
แม้แต่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่นำไปสู่หนทางที่จะแก้ไขความขัดแย้ง หรือเข้าถึงความเป็นธรรมได้ เพราะการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี ๖๐ไม่เปิดโอกาสให้ได้ฝ่ายบริหารตามเจตนาของผู้เลือกตั้ง แต่ต้องเป็นฝ่ายบริหารที่ชนชั้นนำยอมรับเท่านั้น ดังนั้นฝ่ายบริหารที่ได้มาจึงเป็นฝ่ายที่มาจากการใช้ความรุนแรงในการทำรัฐประหาร และร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้เอง
ความรุนแรงปิดล้อมทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ใช้ความรุนแรง และเหยื่อของความรุนแรง ในที่สุดก็ดึงเอาทุกคนเข้ามาอยู่ในวงล้อมด้วยสถานการณ์บังคับให้เราทุกฝ่ายต้องเดินสู่จุดจบที่รุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะจบลงที่การเลือกตั้งที่ไร้ความหมาย หรือลงที่การเลือกตั้งอันมีความหมายบริบูรณ์อย่างที่ควรเป็นก็ตาม
ดังนั้น ถ้าประชาชนชนะในปี ๕๓ ประเทศไทยและเราทุกคนย่อมไม่เดินมาถึงจุดนี้ ข้อสมมติว่า ถ้าประชาชนชนะในปี ๕๓ จึงไม่ใช่ความเพ้อฝันถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว และถ้าประชาชนเป็นฝ่ายชนะ (ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการล้อมปราบอย่างเหี้ยมโหด) จะเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย
ที่มา : เฟซบุ๊กยูดีดีนิวส์ – UDD news
(อ่ายฉบับเต็ม https://www.facebook.com/thai.udd.news/posts/2665743837034404?__tn__=K-R)