บินไทยชนวนร้าว! จับตาเก้าอี้อุตตม ทำไมเรียกแล้วไม่มา??? เรื่องพรรคก็ยังไม่จบ

0

จากเรื่องหัวหน้าหน้าพรรคดูเหมือนว่า คงจะปฏิเสธยากว่าภายในพลังประชารัฐยังคงปกติ ความเคลื่อนไหวของฟากหนุนบิ๊กป้อม กับฝั่งสมคิด4กุมาร จากข่าวลือ-ข่าวลับ ที่ถูกปล่อยออกมาเป็นระลอกล่าสุดถึงกับทำเอาอุตตมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใครบางคน???

ช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวสาร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะผงาดขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หลังรวบรวมเสียงข้างมากจากกรรมการบริหารได้ ทั้งยังคาดกันว่านายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาจถอดใจยอมลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

เพราะหากนายอุตตม ตัดสินใจลาออกจากหัวหน้าพรรค ก็จะทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทันทีตามข้อบังคับพรรคที่ระบุไว้ โดยความเคลื่อนไหวที่คู่ขนานมากับความพยายามเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก็คือ การปรับคณะรัฐมนตรี ที่พล.อ.ประยุทธ์ หลายครั้งว่าเป็นอำนาจตัดสินใจของตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรี

โดยกระแสข่าวเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคมาเป็นบิ๊กป้อมได้สำเร็จ เมื่อนั้นก็ถึงคิวปรับ ครม. โดยเป้าพุ่งไปที่ “กลุ่ม 3 กุมาร” คือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ต่อมานายอุตตม พูดถึงกระแสข่าวว่าตนได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยยืนยันว่า ตนยังนั่งในตำแหน่งดังกล่าวและไม่ได้ลาออกแต่อย่างใด

“โดยสภาพผมยังเหมือนเดิม วันนี้ ข่าวก็คือข่าว เรียนตามข้อเท็จจจริง ผมยังทำงานเหมือนเดิม เรื่องของพรรคก็เป็นเรื่องของพรรค”

ถามว่า มีแรงกดดันให้ลาออกจริงหรือไม่  เป็นอย่างที่เห็น ไม่มีอะไรมากในเรื่องนั้น เรื่องของพรรคก็เดินไปตามนั้น ยืนยัน กระแสข่าวจะไม่กระทบต่อการทำงาน ซึ่งตนจะทำงานอย่างเต็มที่ แม้เสถียรภาพการเมืองจะถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ แต่เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแล และ ต้องทำงานให้กับประชาชนได้ ท่านนายกรัฐมนตรีเองก็บอกว่า วันนี้ จะต้องเอาเรื่องงานมานำเรื่องอื่น

ขณะที่เรื่องปัญหาภายในพรรคยังไม่จบ ก็มีเรื่องอื่นสอดแทรกเข้ามา อย่างการบินไทย ที่กำลังเถียงกันอย่างหนักว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งดูเหมือนจะสะเด็ดน้ำแล้ว ด้วยทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเห็นไปในทิศทางเดียวกันอยากให้เรื่องนี้จบ โดยอาจให้ล้มละลายไปแล้วเข้าฟื้นฟู แต่เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 63 นายอุตตม เปิดเผยว่า การนำบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) เข้าสู่กระบวนการล้มละลายเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาในบริษัทที่กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคมและบริษัทได้หารือกัน แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะอยู่ที่คณะรัฐมนตรี

“การทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ไม่จำเป็นจะต้องทำให้การบินไทยล้มละลาย ทั้งนี้ เวลา 15.00 น. ของวันที่14 พ.ค. กระทรวงการคลังจะร่วมประชุมกับกระทรวงคมนาคมอีกครั้งเพื่อเร่งสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อนำเรียนเข้าสู่ครม.ต่อไป ”

แต่เมื่อถึงเวลา15.00 น. ที่กระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือเรื่องแผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย ซึ่งใช้เวลาในการประชุมกว่า 2 ชั่วโมงครึ่งโดยการประชุมครั้งนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลต่างๆ และมีผู้เข้าร่วมประชุมเฉพาะในส่วนของกระทรวงคมนาคมเท่านั้น เพื่อหาทางออก และหาแนวทางที่จะทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งต้องนำไปหารือกับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องหารือให้ครบถ้วน

“การประชุมครั้งนี้นายอุตตม ไม่ได้เข้าร่วมด้วย เนื่องจากติดภารกิจสำคัญ เวลานี้ยังพูดรายละเอียดอะไรไม่ได้ ขอรายงาน พล.อ.ประยุทธ์  ทราบก่อน นอกจากนี้บริษัท การบินไทยฯ ก็เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย จะพูดทุกเรื่องไม่ได้ ส่วนเรื่องการเสนอให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเสริมสภาพคล่องบริษัทฯนั้น ทำไม่ได้ แต่ก็ยังไม่ตัดทิ้ง” นายอนุทิน กล่าว

นี่คือสัญญาณบางอย่างที่ถูกจับตามอง เพราะก่อนการประชุมครั้งนี้ได้เชิญผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายอนุทิน, นายอุตตม,  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม, น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ รวมถึงผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยฯ แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงเวลาเข้าประชุม นายอุตตม แจ้งว่าติดภารกิจเร่งด่วน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ยังได้หารือในประเด็นการการฟื้นฟูเข้าสู่กระบวนการศาล ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ซึ่งอาจต้องเสนอเรื่องนี้เพื่อพิจารณาควบคู่กับแผนฟื้นฟูด้วย

15 พ.ค.63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงแนวทางแผนฟื้นฟูการบินไทยว่า ขอรายงานความคืบหน้าและแนวทางในการเข้าแก้ไขปัญหาของการบินไทยต่อ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่ามีทางออกแล้ว เบื้องต้นนัดหมาย พร้อมกับนายอนุทิน  ในฐานะกำกับดูแล กระทรวงคมนาคม ที่จะเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อรายงานผลจากการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่14 พ.ค.

ด้านนายอนุทิน กล่าวว่า ตน นายศักดิ์สยาม และนายถาวร จะเข้าพบนายกฯ เพื่อรายงานแผนฟื้นฟูแก้ปัญหาการบินไทย ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแนวทางชัดเจน ส่วนสุดท้ายจะเป็นอำนาจตัดสินใจของนายกฯ หรือไม่นั้นต้องช่วยกันตัดสินใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มีปัญหามายาวนานกว่า 30 ปี

ก่อนนี้คือเมื่อวันที่ 29 เมษายน 63 พลเอกประยุทธ์ ในฐานะประธานพิจารณาแผนการแก้ไขปัญหา การบินไทย เปิดประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หวังให้ การบินไทย ยังสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการท่องเที่ยว และการลงทุนต่อไป โดยผลปรากฏว่า คนร. มีมติเห็นชอบให้ กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 50,000 ล้านบาทให้กับการบินไทย จากทีแรกที่การบินไทย ขอวงเงินไป 70,000 ล้านบาท (น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท)

โดยต่อจากนี้ การบินไทย จะพูดคุยปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ภายใน-นอกประเทศ และปรับลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องไปจนถึงสิ้นปี 2563 นอกจากนี้ คนร. ยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด เพื่อผลักดันงานเร่งด่วนของ คนร. ได้แก่

  1. คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ – นายเทวินทร์ วงศ์วานิช เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อจัดทำร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ 2. คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ – ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อจัดทำร่างหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ

ล่าสุดนั้นจะเห็นว่าท่าทีของอุตตมกับกลุ่มอนุทิน ศักดิ์สยาม กระทั่งถาวร ไปกันคนละทางเพราะดูเหมือนว่า อุตตมไม่อยากให้เข้าสู่การล้มละลาย โดยอยากให้ใส่เงินเข้าไปในการบินไทย คล้ายกับว่าจะเลี้ยงไข้ไว้ก่อน ขณะอีกความคิดเห็นไม่ว่าอนุทิน ศักดิ์สยาม ถาวร รวมทั้งพล.อ.ประยุทธ์ อยากให้เรื่องนี้จบที่เข้าฟื้นฟู ซึ่งท่าทีของอุตตมถูกมองว่าแข็งขืนหรือไม่ ที่ไม่เข้าประชุมทั้งวันที่ 14 พ.ค.และวันนี้คือ 15 พ.ค.

ย้อนไป2วันก่อน 13 พ.ค. 63 นายกรัฐมนตรี ได้เผยกรณีมีการเสนอยื่นศาลขอล้มละลายการบินไทย เพื่อกลับเข้าแผนฟื้นฟูนั้น ระบุอยู่ในเรื่องของขั้นตอนทางกฎหมายว่าจะทำอย่างไร การจะเข้าไปแก้ไข ก็ต้องหาวิธี ถ้าหาวิธีอื่นได้ก็ดี แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องกลับเข้าไปสู่ขั้นตอนของกฎหมาย แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น อยู่ระหว่างกำลังตัดสินใจกันอยู่

แล้วก็ล่าสุดจริงๆ เมื่อช่วงบ่ายวันนี้15พ.ค.63) ที่ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกนายอนุทิน นายศักดิ์สยาม และนายถาวร เสนเนียม ในฐานะกำกับดูแลการบินไทยเข้าหารือประมาณครึ่งชั่วโมง

โดยนายอนุทิน กล่าวภายหลังการหารือว่า นายกรัฐมนตรี มีความเห็นไปในทางเห็นด้วยที่จะให้มีการฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งถือเป็นวิธีการที่สวยที่สุดถ้าทุกคน และทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ การบินไทยก็จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยหากเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการจะมีต้องปรับโครงสร้างของผู้บริหารของการบินไทย ซึ่งทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับการกับตัดสินใจของผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทยคือกระทรวงการคลัง และแนวทางนี้ยังต้องไปศึกษารายละเอียดของพ.ร.บ.ล้มละลายในหมวดของการฟื้นฟูกิจการ

สำหรับการบินไทยนั้นเข้าอยู่หลายข้อ โดยบุคคลที่จะยื่นฟื้นฟูกิจการไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหนี้อย่างเดียว เจ้าหนี้ที่มีหนี้มากกว่า 10 ล้านบาทก็ขอให้ฟื้นฟูกิจการได้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้วจะเป็นเรื่องของเจ้าหนี้ และลูกหนี้โดยมีศาลเป็นผู้กำกับตรงกลาง ส่วนอำนาจในการบริหารจัดการจะขึ้นอยู่กับผู้ที่ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ที่ศาลเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบจากเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งยังมีขั้นตอนอีกมาก

“วันนี้ต้องเร่งหาข้อสรุปในตัวนโยบาย โดยนายกรัฐมนตรี บอกว่าต้องฟื้นฟูกิจการ ถ้าไม่ฟื้นฟูไปต่อไม่ได้ ตอนนี้มีสถานการณ์โควิด สายการบินก็ไม่ได้บิน เดินทางเข้าประเทศต่างๆก็ไม่ได้ สายการบินในประเทศรายได้ก็หายไปมาก ผมคิดว่าตอนนี้เหลือเพียงซอยเดียวแล้ว การฟื้นฟูกิจการเป็นทางที่ดีที่สุด ทุกคนต้องถอยกันบ้าง เพียงแค่ก้าวเดียว ก็จะเดินหน้าไปได้ 5 ก้าว ซึ่งเราควรจะต้องทำ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นกระทรวงคมนาคมที่ผมกำกับดูแล เพียงได้แต่เสนอเท่านั้น แต่ทั้งหมดอยู่ที่ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ก็ต้องไปพูดคุยกันอีกที”นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามว่า การที่กระทรวงการคลัง ไม่มาร่วมหารือด้วยในวันนี้ มีนัยยะอะไรหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า คงต้องไปถามนายอุตตมดู อย่างไรก็ตามหากพูดถึงผู้ถือหุ้น ถ้าในบริษัทนั้นๆ มีส่วนของทุนเป็นลบ ใบหุ้นก็ไม่มีราคาอะไร เจตนารมณ์ของการฟื้นฟูกิจการภายใต้พ.ร.บ.ล้มละลาย

หลักการคือเมื่อคนสะดุดล้มด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม แทนที่จะขายทรัพย์สินหรือขายทอดตลาด แล้วนำมาแบ่งเฉลี่ย อาจจะได้คนละนิดหน่อย แต่การให้โอกาสในการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎกติกามารยาทใหม่ทั้งหมด กิจการนี้ก็อาจจะรอด ธุรกิจก็เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนใดที่ไม่มีมูลค่าก็อาจกลับมามีค่าก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้

“คนที่ตั้งใจทำ ให้ความร่วมมือดีทั้งผู้ถือหุ้นและลูกหนี้ พนักงาน กิจการก็จะสามารถกลับมาใหม่ได้ แต่ถ้าทุกคนไม่ให้ความร่วมมือ อะไรก็ไม่เอาอะไรก็ไม่ได้ เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางเลือก ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องขายทอดตลาด หลักการก็มีอยู่แค่นี้ แต่สำหรับรัฐบาล โดยเฉพาะหัวหน้ารัฐบาลอย่างนายกรัฐมนตรี ก็อยากให้มีการฟื้นฟูกิจการก่อน การไปขายทอดตลาด หรือปล่อยให้ล้มละลายไม่มีอยู่ในหัวของนายกรัฐมนตรี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ถือเป็นทิศทางที่ดี” นายอนุทิน กล่าว

นั่นคือท่าทีล่าสุดชัดเจนว่าทั้งอนุทิน อันมีศักดิ์สยามและถาวร อยู่ในแนวความคิดเห็นทางเดียวกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับนายกรัฐมนตรีในการฟื้นฟูการบินไทย แต่เมื่อมองฝั่งอุตตม อันมีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และผู้ดูแล4กุมาร อาจเห็นไปคนละทางกับฝ่ายอนุทิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นายกฯเรียกประชุมแต่อ้างติดภารกิจ???งานนี้จึงไม่อาจคิดเป็นอย่างอื่น นอกจากจากปัญหาภายในพลังประชารัฐได้ขยายมาสู่แผนฟื้นฟูการบินไทยซึ่งยิ่งย้ำชนวนร้าวให้แตกเร็วขึ้น?!? พร้อมๆกับเก้าอี้อุตตม ว่าจะลงเอยอย่างไร น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง!!!