จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชน ห้างร้านต่างๆได้รับผลกระทบแทบทั้งสิ้น ขณะวันนี้มีรายงานสำหรับเครือซีพียังคงมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แค่ร้านเซเว่นฯ ก็ฟันกำไรไปอย่างมหาศาลแล้ว
ทั้งนี้บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) หรือ CP All ได้รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 1 ปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งแจ้งว่ามีรายได้รวม 145,856 ล้านบาท เติบโตขึ้น 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เฉพาะรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการเปิดสาขาใหม่ของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven และ Siam Makro
สำหรับการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อรายได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และรุนแรงขึ้นในเดือนมีนาคม ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน หากแต่ก็ยังมีกําไรขั้นต้นจากการขายและบริการ 31,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% โดยมาจากการเติบโตในทุกธุรกิจ มีต้นทุนในการจัดจําหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหาร 27,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% มีกําไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 8,760 ล้านบาท ลดลง 0.8%
เมื่อดูตัวเลขสรุปอยู่ที่ CP All มีกำไรสุทธิ 5,645 ล้านบาท ลดลง 2.2% ขณะที่บริษัทซีพี ได้เปิด้เผยว่าร้าน 7-Eleven มีการขยายสาขา 271 สาขา ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 มีสาขารวมทั้งสิ้น 11,983 สาขา แบ่งเป็นร้านบริษัท 5,401 สาขา เพิ่มขึ้น 186 สาขา ร้าน SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 6,582 สาขา เพิ่มขึ้น 85 สาขา
อย่างไรก็ตามมีความน่าสนใจที่ซีพีแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยพบว่า ไตรมาสนี้ 7-Eleven ยังมีรายได้รวมถึง 82,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,112 ล้านบาท หรือ 2.6% แต่ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมลดลง 4.0% เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
โดยยอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน 78,872 บาท ยอดซื้อต่อบิล 70 บาท และมีจำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 1,122 คน โดยจํานวนลูกค้าลดลงเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการระบาดของโรคจากรัฐบาล เช่น จํากัดการเดินทาง การขอความร่วมมือให้อยู่แต่ในที่พักอาศัย โดยสรุปมีกำไรสุทธิ 3,845 ล้านบาท ลดลง 4.5%
บริษัทซีพีฯ ยังแจ้งอีกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีอยู่และส่งผลกระทบในเชิงลบต่อรายได้และค่าใช้จ่าย รวมถึงมีความไม่แน่นอนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อการดําเนินธุรกิจของในอนาคต จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและควบคุมให้มีผลกระทบต่อธุรกิจให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
น่าสังเกตุว่าต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหาร ไตรมาสที่ 1 ต้นทุนอยู่ที่ 27,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขยายสาขา รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่แปรผันกับการเติบโตของสาขา ค่าใช้จ่ายในการบริหารและจัดการร้านช่วง COVID-19 รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการจัดตั้งธุรกิจในประเทศจีนและเมียนมาร์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังถือว่ายักษ์ใหญ่อย่างซีพีก็ไม่ได้สะเทือนต่อเงินในกระเป๋าในขณะธุรกิจอื่นๆเจ๊งระนาว
ที่มา – ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย