ไฟ…ที่สุ่มเสี่ยงพาชาติชิบหาย ท้าทายวงจรอุบาทว์ ถูกจุดขึ้นแล้ว
รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย
“ไฟแห่งความหวังถูกจุดขึ้นแล้ว เพราะเรากล้าที่จะฝัน กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมร่วมกัน เดินหน้าต่อไป พวกเขาจะทำลายเราทุกรูปแบบ ยัดเยียดคดีเพิ่มเติม ลดทอนความน่าเชื่อถือของการเคลื่อนไหวผ่านข่าวปลอม จุดไฟโหมกระพือความเกลียดชังในหมู่ประชาชน และเกมสกปรกอีกหลายรูปแบบที่เราอาจคิดไม่ถึง” นี่คือข้อความที่ถูกโพสต์และกระจายออกไปในโลกโซเชี่ยลหลังแฟลชม็อบสกายวอล์คพร้อมทำกิจกรรมชูสามนิ้วและส่งเสียงโห่ร้องลั่น “ประยุทธ์ ออกไป” (เนชั่นสุดสัปดาห์ออนไลน์, ธันวาคม 2562)
ที่หลายฝ่ายเริ่มเห็นร่วมกันว่านี่อาจเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการชุมนุมหลังกรณีที่ผู้ชักชวนเข้าร่วมมีปัญหาความผิดของตนเองแล้วกระตุ้นมวลชนแสดงพลังในระดับชาติ เพราะปกติก็จะเป็นการไปให้กำลังใจสำหรับนักการเมืองหรือผู้มีชื่อเสียงที่ถูกกล่าวหาหรือโดนชี้ความผิดในระดับส่วนตัวเพื่อถือโอกาสได้ชี้แจงออกสู่สาธารณะให้เกิดการรับรู้ข้อมูลจากด้านของตนบ้าง ดังที่สังคมได้เห็นเวลานักการเมืองท้องถิ่นได้รับการกล่าวโทษหรือข้าราชการโดนชี้ความผิดต่างๆ ก็จะมีการระดมมวลชนจากเจ้าตัว คนใกล้ชิด หัวคะแนน หรืออาจมาจากมวลชนรวมตัวกันเองเพื่อให้กำลังใจ
เมื่อได้พิจารณาในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้มาพอสมควรเพราะอยู่ในความสนใจของประชาชนรวมถึงนักวิชาการอย่างผมด้วย เริ่มเห็นว่ากลุ่มที่ออกมาและคิดว่ากลุ่มตนได้จุดไฟแห่งความหวังขึ้น สิ่งที่เห็นประจักษ์กันหลายฝ่ายคือมีการทำหลายอย่างให้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีมาอย่างต่อเนื่อง หรือต้องการให้ถูกดำเนินคดีหรือไม่?
เป็นสิ่งที่เริ่มสะท้อนมาจากหลายฝ่าย มีคำถามมากขึ้นทุกทีว่า “ต้องการคดีเพิ่ม” เพื่อสร้างความชอบธรรม ในการชี้อย่างมีพลังขึ้นดังที่กล่าวไว้ที่ยกมาในตอนแรกว่า “มีการทำลายทุกรูปแบบ ยัดเยียดคดีเพิ่มเติม” อันสามารถส่งสารไปยังกลุ่มพลพรรคและแนวร่วม โดยเฉพาะกลุ่มพลังนักศึกษาซึ่งเป็นผ้าขาวทางความคิดที่จะไม่ยอมต่อการเอาเปรียบและการกลั่นแกล้งอย่างไร้เหตุผลของผู้มีอำนาจ เพราะคิดว่าการที่มีคดีมากมายซึ่งผู้อื่นทำไมไม่มีมากถึงขนาดนี้ และมองเป็น “เกมสกปรก” อย่างที่คนจุดไฟเรื่องนี้ต้องการหรือไม่
เพราะถ้าสามารถมีนักศึกษามาเป็นแนวร่วมมากขึ้น การจุดไฟต่อต้านอำนาจที่สร้างวาทกรรมของการถูกกดขี่และสร้างเกมสกปรกให้ฝ่ายตรงข้าม ก็จะกลายมาเป็นชนวนของการต่อสู้จากผ้าขาวทางการเมืองและพร้อมจะสู้ทุกรูปแบบด้วยพลังที่บริสุทธิ์ เหมือนดังที่เคยก่อรูปและสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองมาแล้วในยุคตั้งแต่ ๒๕๑๕-๒๕๒๐ โดยมีไฮไลท์อยู่ที่ ๑๔ ตุลา ๑๖ และ ๖ ตุลา ๑๙ หรือนี่…เป็นสิ่งที่ผู้จุดไฟต้องการและสร้างภาพให้ตัวเองเป็นผู้จุดชนวนการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองดังวาทกรรมที่ปล่อยออกมาสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง
ต้องยอมกรับว่าที่ผ่านมาการเกิดขึ้นของพรรคใหม่พรรคหนึ่งที่โดดเด่นท่ามกลางการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองจำนวนมากในช่วงหลังยึดอำนาจจาก คสช. เป็นการสร้างความหวังให้กลุ่มคนและกลุ่มชนหลายกลุ่มทีเดียว ดังเช่น กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) กลุ่มผู้พิการ กลุ่มชาคติพันธุ์ กลุ่มคนเหล่านี้เริ่มมีความหวังในการดำเนินการของการส่งผ่านแนวคิดกลุ่มตนเองไปยังระดับชาติโดยผ่านกระบวนการรัฐสภา โดยหลายส่วนผลักดันพรรคการเมืองนี้อย่างเต็มที่ แต่ “ถ้าต้องต่อสู้บนถนน ไม่ต้องเข้าร่วมกับพรรคการเมือง ก็สามารถต่อสู้ด้วยกลุ่มพวกตนได้” ถือเป็นการดับฝันของกลุ่มในการต่อสู้เพื่อการมีบทบาทและความเท่าเทียมของกลุ่มไปอย่างน่าเสียดาย
การจุดไฟที่สร้างวาทกรรมว่า “ไฟแห่งความหวังถูกจุดขึ้นแล้ว เพราะเรากล้าที่จะฝัน กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมร่วมกัน” แต่การดำเนินการที่เห็นจากการจุดไฟนี้หาได้ต่างกับเหตุการณ์ของการต่อสู้ทางความคิด ทางการเมืองที่ช่วงที่ผ่านมา ที่สร้างความวุ่นวายอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขัดขวางในการเปลี่ยนผ่านชาติไทยเข้าสู่ผู้นำภูมิภาคที่มีศักยภาพ สร้างเกมในการแข่งขันกับชาติที่พยายามสร้างเกมที่เหนือกว่าเพื่อการยึดครองโดยทุนสามานย์ โดยเล่ห์เหลี่ยมทางการค้า และรูปแบบต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
หากชาติไทยสามารถก้าวสู่ผู้นำภูมิภาคอย่างมีศักยภาพก็จะนำพาชาติทะยานไปสู่การแข่งขันในระดับโลกโดยไม่ถูกเอาเปรียบเหมือนที่ผ่านมา สามารถสร้างนโยบายที่เหมาะสมกับชาติตน สร้างจุดแข็งที่จะส่งชาติไทยเข้าแข่งขันในสนามระดับโลก แต่ถ้าย้อนกลับไปเป็นแบบเดิม ความวุ่นวายของการต่อสู้ทางความคิดที่มุ่งเอาชนะกันแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงชาติแล้วละก็ “ความชิบหายของชาติคงอยู่ไม่ไกล”
และถ้าคิดว่าจุดไฟได้แล้วก็เป็นสัญญานเริ่มต้นที่สุ่มเสี่ยงทอันจะนำไปสู่ชนวนของการใช้อำนาจเพื่อให้เกิดความสงบของบ้านเมือง เข้าสู่ “วงจรอุบาทว์” ที่ไม่มีวันจบสิ้น
หรือคนจุดไฟ ต้องการให้ ชาติชิบหาย และ ท้าทายวงจรอุบาทว์ ???