จากกรณีวันนี้(16 ธ.ค.62) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โพสต์เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ระบุว่า “หลายคนคงคิดว่าช่วงนี้ดิฉันทำไมเงียบหายไป ยังมีความสุขดีอยู่มั้ย บางครั้งการพยายามไม่คิดมาก ทำใจให้สงบ มีความสุขก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
แต่ความสุขเหล่านั้นก็อยู่บนความสุขที่หน้าชื่นอกตรม เพราะนอกจากตัวเองจะต้องพลัดพรากจากลูก จากครอบครัวและจากพี่น้องประชาชนมาอยู่ต่างแดนแล้วยังต้องสูญเสียบ้าน ทรัพย์สิน บัญชีธนาคาร รวมถึงทรัพย์สมบัติส่วนตัวที่ตนเองหามาตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนมาเป็นนายกรัฐมนตรี และสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ตอบแทนดิฉัน
ดิฉันสูญเสียบ้านที่ถูกยึดและขณะนี้ทรัพย์สินของดิฉันก็กำลังถูกกรมบังคับคดีประมูลชิ้นต่อชิ้น ดิฉันใช้ข้อต่อสู้ทางกฎหมายทุกรูปแบบแล้วแต่ก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ เพราะนายกรัฐมนตรีชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยึดอำนาจ และจนถึงปัจจุบันมาตรา 44 ก็ยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่อยู่ ทุกคนจึงเร่งดำเนินการกับคดีดิฉันโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย
เพราะจริงๆแล้วคดีต้องรอคำพิพากษาศาลปกครองที่ถึงที่สุดว่าดิฉันแพ้คดีก่อนจึงจะสามารถนำทรัพย์เหล่านั้นมาขายทอดตลาดได้ เป็นการถูกกระทำที่ไม่เหมือนใครในประวัติศาสตร์ ซึ่งการนำเอาข้ออ้างของมาตรา 44 มาอยู่เหนือคำพิพากษาของศาลนอกจากไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใครแล้ว ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ผลกระทบของการใช้ มาตรา 44 ให้มีอำนาจเหนือรัฏฐาธิปัตย์ถือเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย
วันนี้ดิฉันเองจึงอยากจะขออนุญาตเล่าความในใจว่า ดิฉันเองจะต้องต่อสู้เรื่องของการถูกประมูลทรัพย์สินทุกชิ้นที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจนัก แม้กระทั่งทรัพย์สมบัติที่พ่อแม่ให้มา ดิฉันก็ไม่สามารถที่จะปกป้องเอาไว้ได้ ดิฉันต้องอดทนต่อความเจ็บปวดและสะเทือนใจทุกครั้งที่รับทราบว่าทรัพย์ถูกทยอยขายไปทีละชิ้น ทีละชิ้น บางครั้งดิฉันก็ต้องปลอบใจตัวเองและบอกกับตัวเองว่า หากเรายังเศร้าและจมปลักอยู่กับอดีตเราก็จะไม่มีความสุข เรายังต้องมีภาระและดูแลอีกหลายชีวิตที่เขาฝากความหวังไว้กับเรา
ดังนั้นดิฉันจึงต้องพยายามยืนและมองไปข้างหน้าโดยมองอดีตเป็นประสบการณ์ และคนเราควรจะอยู่เพื่อวันนี้และเพื่ออนาคต ไม่เอาอดีตมาทำให้เราไม่สามารถจะหลุดพ้นหรือเดินไปข้างหน้าไม่ได้ เพราะวันนี้ดิฉันพยายามที่จะบอกว่าดิฉันอยู่กับปัจจุบันและอยู่กับอนาคต เราจะต้องเข้มแข็งและสู้ต่อไป แต่สิ่งหนึ่งในอดีตที่ดิฉันไม่เคยลืมก็คือความไว้วางใจที่พี่น้องประชาชนมีต่อดิฉันโดยเสมอมาค่ะ # ม.44กฎหมายเลือกข้าง # กฎหมายเลือกข้าง”
ย้อนไปตามข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 59 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 56/2559 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ว่า ก่อนหน้านี้ได้คุ้มครองแล้ว แต่คำสั่งดังกล่าวเป็นการเพิ่มพืชอีก 2 ชนิด คือ มันสำปะหลังและข้าวโพด ส่วนการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีนั้น เป็นไปตามที่ได้บอกไว้ว่าจะไม่มีการใช้มาตรา 44 ตัดสินความผิดแล้วยึดทรัพย์เป็นอันขาด ทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติอย่างที่เคยมีมา
แต่ติดตรงที่การจะออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องข้าว ในกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวก ซึ่งหลักการปกติเป็นหน้าที่กระทรวงต้นสังกัดที่รับผิดชอบที่ต้องยึดทรัพย์กันเอง แต่ครั้งนี้เป็นการยึดทรัพย์จำนวนมาก ทางกระทรวงจึงบ่นว่าไม่มีคน และหากยึดมาได้ไม่มีที่จะเก็บ จึงให้กรมบังคับคดีเข้าไปจัดการ ดังนั้นจึงต้องใช้มาตรา 44 กำหนด แต่ไม่ใช่ว่าใช้มาตรา 44 ไปยึดทรัพย์ แต่ยึดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539 ที่เปลี่ยนจากกระทรวงมาเป็นกรมบังคับคดี ส่วนจะยึดได้มากหรือน้อยเพียงใดเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ
14 ก.ย. 59 วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ย้ำว่า กระบวนการทุกอย่าง จะดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด และยืนยันว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่56/2559 ตามมาตรา 44 เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการของศาล รัฐบาลจะไม่ก้าวล่วงอำนาจศาล คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงการให้อำนาจกรมบังคับคดีเข้าไปดำเนินการ ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้ว หรือเมื่อมีคำพิพากษาของศาลปกครองออกมาแล้ว
ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2559 มอบอำนาจให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์จากความเสียหายการทุจริตซื้อข้าว ตามที่ “คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง” มีนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน ได้เคาะตัวเลขให้ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้เงิน 35,717 ล้านบาท
ต่อมา 15 ก.พ.60 นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เห็นด้วยที่ระบุว่าสามารถยึดหรืออายัดทรัพย์ได้ก่อนที่ศาลปกครองจะวินิจฉัยคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในคดีรับจำนำข้าว เพราะกระบวนการยังไม่แล้วเสร็จว่า ถือเป็นทัศนะของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เป็นไร แต่ในแง่กฎหมายของทางรัฐบาลถือว่ากระบวนการเสร็จแล้วตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และพ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ
ทั้งนี้นับตั้งแต่มีการออกคำสั่งทางปกครองและแจ้งไปให้ดำเนินการ และต่อมาผู้ถูกคำสั่งได้ไปร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ซึ่งแสดงว่ากระบวนการแล้วเสร็จไม่เช่นนั้นผู้ถูกออกคำสั่ง จะไปร้องต่อศาลปกครองขอให้ทุเลาไม่ได้ ส่วนความหมายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ว่ากระบวนยังไม่แล้วเสร็จนั้น ตนก็เข้าใจว่าหมายถึงคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่ได้ตัดสินจึงควรจะรอก่อน แต่ในทางกฎหมายไม่จำเป็นต้องรอคำตัดสินของศาลฎีกาฯ
29 ม.ค. 61 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของนายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 4 คน ที่สั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 35,000 ล้านบาท จากคดีรับจำนำข้าว
โดยศาลเห็นว่าเมื่อพิจารณาคำขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ได้ยื่นไว้เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 และข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของคู่กรณี รวมถึงกรมบังคับคดีแล้วเห็นว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะอ้างเหตุความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งเรียกให้ชดใช้เงินหลายประการ แต่เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิพากษาคดีต่อไป
ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่าได้มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองในการยึดอายัดทรัพย์สินบางรายการไปแล้ว ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ยากแก่การเยียวยาภายหลังนั้น เห็นว่านอกจากกระทรวงการคลังจะมีศักยภาพในการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นในภายหลัง หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพิพาทแล้ว
ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าบัญชีเงินฝากทั้ง 16 บัญชี ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นต่อ ป.ป.ช.เมื่อพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี จำนวนกว่า 24 ล้านบาท แต่เมื่อเจ้าหน้าที่อายัด พบว่ามีเงินเหลือในบัญชีประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ชี้แจงประเด็นนี้ต่อศาล จึงเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินจริง
ประกอบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้อุทธรณ์การบังคับทางปกครอง จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าหากศาลไม่มีคำสั่งทุเลา จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จนยากแก่การเยียวยาภายหลัง ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ มีรายงานว่า มติดังกล่าวเป็นมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2
นายนพดล หลาวทอง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า จากนี้ ต้องดูการบังคับคดีของกรมบังคับคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่หากพบว่าทำนอกกรอบกฎหมาย ก็จะใช้สิทธิโต้แย้งใหม่ พร้อมเตรียมต่อสู้ว่าการออกคำสั่งไม่ชอบอย่างไร ทั้งนี้ ทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้ไม่ให้เคลื่อนย้ายถ่ายเท แต่ยังไม่ได้ยึดขายทอดตลาด โดยทรัพย์สินที่เคยยื่นคำร้องขอให้ระงับไว้ในครั้งแรกและครั้งที่ 2 คือบ้านพัก และบัญชีเงินฝากประมาณ 12-13 บัญชี
8 ก.พ. 61 ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ นายนพดล ได้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลยต้องโทษจำคุก 5 ปีคดีจำนำข้าว ยื่นคำร้องขอศาลพิจารณาสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ซึ่งเป็นการออกคำสั่งทางปกครองเมื่อ 13 ต.ค.59 ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเหตุขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ( กขช.) ปล่อยให้เกิดความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวโดยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่ เป็นเหตุให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย มูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาทเศษ ไว้ก่อนที่จะมีคำพิพากษา ภายหลังที่ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งยกคำร้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ มาถึง 2 ครั้งแล้ว เมื่อวันที่ 10 เม.ย.60 และวันที่ 29 ม.ค.61
หลังจากที่ กระทรวงการคลัง ออกคำสั่งดังกล่าวในปี 2559 “น.ส.ยิ่งลักษณ์” ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้หลบหนีคดี ก็ได้มอบอำนาจให้นายนพดล ทนายความ ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี , รมว.คลัง , รมช.คลัง และปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ในคดีหมายเลขดำ 1996/2559
โดยฟ้องว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องทั้งสี่ ที่เรียกให้ผู้ฟ้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการ กรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีในฐานะนายกฯ และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และทำให้ทางราชการเสียหายเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการใช้อำนาจตาม รธน.ชั่วคราว มาตรา 44 โดยเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรมดำเนินการอย่างเร่งรัด จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว พร้อมกับยื่นคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ขอให้ศาลสั่ง “กรมบังคับคดี” งดหรือชะลอการขายทอดตลาดทรัพย์สินไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ขณะที่ นายนพดล กล่าวภายหลัง การยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีรอบที่ 3 ว่า การยื่นคำร้องใหม่อีกเนื่องจากเห็นว่า การยึดทรัพย์บังคับคดีจะต้องเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำพิพากษา แต่กรณีนี้ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลใดให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชดใช้
โดยคำสั่งที่ให้ชดใช้ เป็นเพียงคำสั่งทางปกครองที่เกิดขึ้นในสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ และมีความไม่ชอบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการสอบสวน , การสอบสวนหาความรับผิด ซึ่งมุ่งแต่หาความเสียหายโดยไม่คำนึงถึงเนื้อหา การใช้อำนาจตาม ม.44 ตั้งกรมบังคับคดีขึ้นมาเพื่อบังคับแทนหน่วยงานปกติ และยังให้ความคุ้มครองโดยไม่ต้องรับโทษทางอาญา
นายนพดล กล่าวอีกว่า โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ครม.ที่ต้องเป็นผู้รับผิด หากเห็นว่าการดำเนินการต่างๆ เป็นไปด้วยความไม่ถูกต้อง ก็ต้องเป็นอำนาจตรวจสอบของรัฐสภา ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางการปกครอง บังคับไว้ชัดเจนว่าไม่ให้นำเรื่องคำสั่งทางปกครองหรือกระบวนการทางปกครองมาใช้บังคับกับกรณีนี้
ขณะที่โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการสาธารณะที่ไม่อาจจะมาคิดเรื่องผลกำไรขาดทุน ในส่วนการทำหน้าที่นายกฯ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการสวมสิทธิ การโกงความชื้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในขั้นตอนปฏิบัติ ไม่ได้เกิดขึ้นในขั้นตอนของนโยบายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กำกับดูแล จึงเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดในทางละเมิด
ดังนั้นเมื่อกรณีที่ให้อดีตนายกรัฐมนตรีรับผิดทางละเมิดยังไม่มีคำพิพากษา ขณะที่ฟ้องว่าคำสั่งทางปกครองซึ่งให้ชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดนั้นไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่น่าจะมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมายึดทรัพย์บังคับคดีในระหว่างที่ยังมีการพิจารณาคดี เพราะจะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับความเสียหายยากต่อการเยียวยาในภายหลังจึงต้องมายื่นคำร้องต่อศาลปกครองอีกครั้ง ส่วนคดีหลักที่ฟ้องเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังนั้น ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลปกครอง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานอีกเท่าใด
“ตอนนี้ กรมบังคับคดีได้ยึดทรัพย์อายัดบัญชีเงินฝากของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งหมดแล้ว ทั้งที่ทรัพย์บางส่วนเกิดจากการทำมาหาได้ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นน้ำพักน้ำแรงก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บ้านพักอาศัยในปัจจุบัน สามีและบุตร พร้อมบริวารก็ยังอาศัยอยู่เหมือนเอาคนไปประหารก่อนมีคำพิพากษา หากภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่าไม่ผิด จะมีการชดใช้ความเสียหายนี้อย่างไร เพราะไม่ได้เสียหายเฉพาะทรัพย์สิน แต่ยังเสียหายไปถึงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ” นายนพดล ระบุ
9 ก.พ. 61 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส. พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่าน Warong Dechgitvigrom ว่าผมไม่แน่ใจว่าทางทีมทนายของนางสาวยิ่งลักษณ์ได้อ่านคำสั่งศาลปกครอง ที่ยกคำร้องครั้งที่สองหรือไม่ ศาลได้พูดถึงข้อกฏหมายและระเบียบศาลปกครอง กรณีที่จะให้ทุเลาการบังคับคดี และที่สำคัญศาลได้กล่าว กรณีผู้ร้องแพ้คดี ไม่สามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ แต่สามารถร้องต่อศาลปกครองกลางซ้ำได้ ถ้ามีข้อมูลใหม่ (การร้องขอทุเลาบังคับคดีครั้งแรกของนางสาวยิ่งลักษณ์ ศาลปกครองยกคำร้องเพราะยังไม่มีการยึดและอายัดทรัพย์เกิดขึ้น)
ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ได้ร้องซ้ำไปแล้ว เพราะมีข้อมูลใหม่ว่ามีการยึดและอายัดทรัพย์เกิดขึ้นจริง และศาลก็ได้ยกคำร้องการขอทุเลาบังคับคดี ในครั้งที่สอง เหตุผลสำคัญที่ศาลได้ยกคำร้อง นอกจากมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินแล้ว ศาลยังเห็นว่ากระทรวงการคลังมีศักยภาพในการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นในภายหลัง หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่พิพาทแล้ว
การที่ทนายความนางสาวยิ่งลักษณ์ ร้องขอให้ศาลปกครอง(เป็นการร้องครั้งที่สาม) มีคำสั่งให้กรมบังคับคดีงดหรือชะลอการขายทอดตลาดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะเกรงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับความเสียหายยากต่อการเยียวยาในภายหลัง จึงดูแล้วแปลกๆ คล้ายว่าต้องการทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เพราะทุกอย่างมีความชัดเจนในคำสั่งศาลครั้งล่าสุดแล้ว ทางที่ดีนางสาวยิ่งลักษณ์น่าจะอ่านคำสั่งศาลปกครองล่าสุดให้ละเอียด จะได้เข้าใจอย่างถ่องแท้