ทักษิณ-พวกรวม7คอพาดเขียง เผยโฉมปธ.ไต่สวนปปช.มาจากสว.ยุคลุงตู่ เจ้าของคดี44สส.ก้าวไกล ลั่นไม่มีใครสั่งผมได้

0

จากที่มีรายงานความคืบหน้าคดีชั้น 14 ที่ผลสอบสรุปออกมาแล้ว ขณะที่กรรมาธิการของสภาก็เดินหน้าเรียกนายทักษิณและบุคคลสำคัญให้ถ้อยคำ โดยนัยยะไทม์ไลน์ถูกกำหนดไว้ที่กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยด้วย
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) พร้อมด้วยตัวแทน เดินทางยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าการยื่นคำร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.
“ตรวจสอบไต่สวนบุคคลที่เกี่ยวข้องในการเอื้อให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจในช่วงระหว่างการรับโทษจำคุก 1 ปี
มีการเจ็บป่วยวิกฤตจนถึงขั้นต้องนอนรักษาตัวนอกโรงพยาบาลราชทัณฑ์จริงหรือไม่ ซึ่งผู้ถูกร้องประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกำกับดูแลกรมราชทัณฑ์, อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์, รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์, ปลัดกระทรวงยุติธรรม , ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ และแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นข้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ทำให้เกิดกระบวนการช่วยเหลือนายทักษิณ เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ” นายพิชิต ระบุ
ทั้งนี้นายพิชิต กล่าวว่า เรื่องนี้ทาง คปท.มีการยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 และที่ผ่านมาก็มีการทวงถามหลายรอบแต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปวันนี้จึงเป็นการมาทวงถามเป็นครั้งที่ 4 และเป็นการทวงถามครั้งสุดท้าย และเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าหารือกับผู้ช่วย ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนโดยตรงหลังจากที่ผ่านมาได้พบเพียงเจ้าหน้าที่เท่านั้น
โดยหลังจากยื่นหนังสือแล้ว นายพิชิตพร้อมด้วยตัวแทนได้เข้าหารือกับ นายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในคดีนี้ มารับหนังสือทวงความคืบหน้าด้วยตัวเอง โดยใช้เวลาพูดคุยประมาณ 15 นาที
ภายหลังการหารือกับผู้ช่วยเลขา ป.ป.ช. ซึ่งทางนายพิชิต เปิดเผยว่า คณะกรรมการสืบสวนคดี ได้สรุปสำนวนเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้รับเอกสารเวชระเบียนที่ขอจากโรงพยาบาลตำรวจ ได้เพียงค่ารักษาพยาบาล ขั้นตอนจากนี้ทางอนุกรรมการจะมีการสรุปสำนวนเสนอต่อต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อให้เกิดสภาพบังคับภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 ส่วนจะมีมติตั้งกรรมการไต่สวน จนไปสู่การชี้มูลกับใครบ้าง หรือจะตีตกสำนวนไปนั้น ผู้ช่วยเลขาป.ป.ช.ระบุว่าจะสรุปภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่ง ทาง คปท.จะมาติดตามอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามนายพิชิต กล่าวอีกว่า จากการเข้าหารือกัน เบื้องต้นถือว่าพอใจหลังจากการเดินทางมาติดตามหลายครั้ง เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดสืบสวนข้อเท็จจริง ดำเนินการอย่างเร่งด่วน
“ป.ป.ช. ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนเพื่อชี้แจงต่อสังคม เพราะวันนี้ไม่ใช่แค่คปท.เท่านั้นที่ร้องเรียนเข้ามา แต่สังคม ประชาชนทั่วไป ได้มีการติดตามเรื่องนี้ เพราะกรณีที่นายทักษิณเข้ารับการรักษาที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจเกิดคำถามเกิดขึ้นมากมาย ป.ป.ช.ก็เหมือนพนักงานสอบสวนที่ต้องชี้แจง หากมีการชี้มูลออกมาสังคมก็คงไม่มีการตั้งคำถามอีกเพราะขั้นตอนต่อไปจะมีการสืบข้อเท็จจริงต่อไป แต่หากไม่ชี้มูลใครเลย ป.ป.ช.ก็จะต้องให้คำตอบกับสังคมไม่เช่นนั้น ป.ป.ช.จะเป็นจำเลยของสังคมเสียเอง” นายพิชิต กล่าว
นอกจากนี้ นายพิชิต ยังได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความถึงกรณีดังกล่าวลงในเฟซบุ๊ก Pichit Chaimongkol ด้วยว่า “คืบหน้า คปท.ในฐานะผู้ร้องให้ ปปช.ดำเนินคดีกับข้าราชการที่ช่วย ทักษิณ ชินวัตร ไม่ติดคุก
วันนี้มาติดตามความคืบหน้ากับท่านผู้ช่วยเลขาฯ ปปช. นายจักรกฤษ ตันเลิศ ผลการประชุมร่วมสรุปได้ว่า 1.คณะชุดสืบสวนข้อเท็จจริงตามร้อง ได้สรุปสำนวนเรียบร้อยแล้ว ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 จะนำเสนอให้อนุกรรมการที่มี นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ปปช.เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งจะใช้เวลาภายใน 3 เดือน (กุมภา 68) จึงจะมีมติว่าจะชี้มูล หรือ ไม่ชี้มูล
เรื่องเวชระเบียนโรงพยาบาลตำรวจ ที่ไม่ให้ความร่วมมือกับ ปปช. ตอนนี้อยู่ในระหว่างให้ กรรมการ ปปช.สรุปว่า จะไปแจ้งความเอาผิด ตาม พรบ.ปปช.มาตรา 178 หรือไม่ ความจริงใกล้ปรากฏ”
กระนั้นเองที่ ทีมข่าว THE critics จึงตรวจสอบที่มา ปปช.อย่างนายเอกวิทย์ ก็พบว่าเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมวุฒิสภาได้เห็นชอบให้ นายเอกวิทย์ เป็นกรรมการป.ป.ช. ด้วยคะแนนเห็นชอบ 202 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 คะแนน ไม่ออกเสียง 4 คะแนน
ต่อมา 4 มกราคม 2567 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ราย นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ แทน นายณรงค์ รัฐอมฤต เนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่ง
สำหรับประวัติของนายเอกวิทย์ ปัจจุบันอายุ 64 ปี เป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6 วุฒิการศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตสภา และพัฒนบริหารศาสตรมมหาบัณฑิตทางรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ขณะที่ THE critics ได้พบความเคลื่อนไหวของนายเอกวิทย์ ภายหลังได้เข้าไปเป็นกรรมการปปช. โดยเมื่อวันที่ 08 สิงหาคม 2567 นายเอกวิทย์ ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตรวจข้อร้องเรียนให้สอบจริยธรรม สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่เคยลงชื่อเสนอกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดย นายเอกวิทย์ กล่าวว่า การไต่สวนต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงทั้งส่วนที่เป็นคุณ และเป็นโทษ และต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีการชี้แจง และไม่ได้ละเลย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องนำมาประกอบ แต่ว่าจะต้องพิจารณาทุกแง่มุมทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย
“ยืนยันกับทุกท่านได้ว่าเราทำงานโดยไม่มีอคติ อยู่บนข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ที่สำคัญต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จะเอาให้รวดเร็วได้ดั่งใจคงไม่ได้ การล่าช้าเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม แต่หากรวบรัดมากเกินไปความยุติธรรมก็อาจไม่เกิด”
ส่วนกรอบระยะเวลาในการดำเนินการนั้น นายเอกวิทย์ กล่าวว่าเนื่องจากข้อเท็จจริงของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายไม่เหมือนกัน และการเรียกพยานบุคคลและเอกสารแต่ละครั้งก็อาจมีอุปสรรคบ้าง จึงต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนปกติ พร้อมนี้ นายเอกวิทย์ ย้ำว่า เจ้าหน้าที่ทำงานบนข้อเท็จจริง และหลักฐานไม่มีอคติ และไม่มีใบสั่งที่ไหน ไม่มีการเข้าข้างการเมืองฝ่ายไหน อยู่ลักษณะเป็นกลาง ยืนยันไม่มีใบสั่งทางการเมือง ไม่มีใครมาสั่งตนได้

#ทักษิณ #ปปช. #ลุงตู่ #สว. #44สส.ก้าวไกล #พิชิต #เอกวิทย์ #ศาลรัฐธรรมนูญ #รพ.ตร. #ชั้น14 #กรมราชทัณฑ์ #พ.ต.อ.ทวี #คปท. #มาตรา157