จากที่มีการเลือกนายกิตติรัตน์นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ท่ามกลางเสียงทักท้วงของหลายฝ่ายแต่ก็ไม่มีผล จนกระทั่งมีนักกฎหมายออกมาชี้ช่องให้ยื่นศาลฟ้องว่าการแต่งตั้งดังกล่าวอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย
โดยเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 นายเชาว์ มีขวด ทนายความ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เรื่อง กิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ มีเนื้อหาระบุว่า “คณะกรรมการคัดเลือก 7 คน มีมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เตือนไว้เลยใครที่ลงคะแนนให้นายกิตติรัตน์ นั่งเก้าอี้ตัวนี้ ท่านเตรียมสู้คดีในชั้นศาล ที่อาจต้องจบที่เรือนจำ
ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีของนายกิตติรัตน์ จึงอยู่ในความหมายของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามความใน ข้อ 16 (4) ของระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพราะนายกิตติรัตน์ ยังพ้นตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ถึงหนึ่งปี โดยพ้นตำแหน่งไปในวันที่นายเศรษฐา ทวีสิน หลุดตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เท่ากับเพิ่งพ้นหน้าที่มาเพียงแค่ไม่ถึงสามเดือน” นายเชาว์ ระบุ
ต่อมาในวันเดียวกัน (12 พ.ย.67) นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กด้วย โดยระบุว่า “ต้องถึงศาล ระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณาและการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551
กำหนดไว้ชัดเจนในหมวดที่ 2 การเสนอชื่อ การพิจารณาและการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไว้ในข้อ 16 (4) ว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
ขีดเส้นใต้คำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเมื่อดูหนังสือที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0203/15489 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2535 ส่งให้ สำนักงานกฤษฎีกาตีความว่า
คำว่า ข้าราชการการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีความหมายอย่างไร และตำแหน่งดังกล่าวมีความแตกต่างกันอย่างไร
กฤษฎีกาตอบมาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งถ้อยคำอื่นในลักษณะเดียวกันนั้น หมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศ หรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีความหมายกว้างกว่าคำว่า ข้าราชการการเมือง โดยรวมถึงบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด
โดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย (policy) เพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหาร (administration) ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงหมายถึงคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
เมื่อดูคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี วรรคแรก เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงแต่งตั้งให้ นายกิตติรัตน์ เป็นประธานที่ปรึกษา
วรรคสุดท้าย ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอและให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อกาปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการโดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ดูคำสั่งเต็มที่แนบมา สรุป นายกิตติรัตน์ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ให้หน่วยงานราชการให้ความร่วมมือ เบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินตามระเบียบราชการ เมื่อดูการตีความของ สำนักงานกฤษฎีกา และองค์ประกอบแล้ว นายกิตติรัตน์ อาจเข้าข่ายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นายกิตติรัตน์ จะเข้าข่ายขาดคุณสมบัติที่จะเป็นประธานกรรมการบอร์ดแบงก์ชาติ และกรรมการคัดเลือกมีสิทธิ์ติดคุก คล้ายกรณี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เรื่องนี้ต้องถึงศาลครับ”
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการคัดเลือกประธานคณะกรรมการและคณะกรรมการ ธปท.มีมติเลือกนายกิตติรัตน์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท.โดยคณะกรรมการเสียงข้างมาก จำนวน 4 เสียง ที่ลงมติเลือกนายกิตติรัตน์ ส่วนอีก 3 เสียง แบ่งลงให้กับนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน 2 เสียง และอีก 1 เสียง ลงคะแนนให้กับนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
https://www.isranews.org/article/isranews/133307-politics-89.html
อย่างไรก็ตามทีมข่าว THE critics จึงตรวจสอบคดีของนพ.สุรพงษ์ ก็พบว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 นพ.สุรพงษ์ เปิดเผยว่า ตนได้ถูกศาลพิพากษาสั่งจำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ โดยรอลงอาญา 1 ปี ในคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้กระทำการแทรกแซงเสนอชื่อ3อดีตผู้บริหาร ธ.ทหารไทย–กรุงไทย เป็น กรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
#รบ.อิ๊งค์ #พิชิต #กฤษฎีกา #กิตติรัตน์ #คปท. #หมอเลี้ยบ #ธปท. #กิตติรัตน์ #เชาว์ #เศรษฐา #สถิต #แบงก์ชาติ #สุรพล #นพ.สุรพงษ์ #ปปช.