เนวิน-ทักษิณแตกหัก? เปิดศึกอัลไพน์-เขากระโดง 2กระทรวงสู้กันเดือด ตลก.ศาลรธน.พ้นวาระ-คดีล้มล้างในมือสว.น้ำเงิน

0

จากกรณีโดยกรมที่ดินจะเพิกถอนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ อันจะทำให้นายกแพทองธารติดบ่วงจริยธรรมร้ายแรง ขณะเดียวกันเรื่องที่ดินเขากระโดงก็ถูกจับมาพิจารณาถึงการแลกเปลี่ยนบางอย่าง หรืออาจถึงขั้นทำ2พรรคแกนนำรัฐบาลแตกหักกันได้!?!
โดยเมื่อวันที่ 09 พฤศจิกายน 2567 มีรายงานว่า คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง
กรมที่ดิน พิจารณา ผลการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเห็นว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัยข้อ 12 ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553
อธิบดีจึงได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯ เสนอยุติเรื่องในกรณีนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่ได้เสนอมา พร้อมทั้งแจ้งให้การรถไฟทราบว่า หากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป
ประเด็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ เป็นกรณีพิพาทของการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเอกชน ซึ่งกรมที่ดินไม่มีโอกาสได้เข้าไปเป็นคู่ความต่อสู้ในคดี
การดำเนินการคณะกรรมการสอบสวนฯ และกรมที่ดิน เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 บัญญัติไว้ จึงเห็นว่ามิได้ขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาของศาลแต่ประการใด
นั่นคือท่าทีของกรมที่ดิน ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ที่มีพรรคภูมิใจไทยเข้าบริหาร เป็นกรมที่ดินที่มีรายงานว่าได้สั่งให้เพิกถอนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า คดีที่ร้องต่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผิดจริยธรรมร้ายแรงเพราะถือครองหุ้นบริษัทดังกล่าว แม้จะโอนไปแล้วก็ตาม นี่เองที่ทำให้หลายคนมองว่า พรรคภูมิใจไทยกำลังถือไพ่เหนือว่า พรรคเพื่อไทย และหากจะกล่าวให้ชัดเจนกว่านั้นก็คือ ครูใหญ่ บุรีรัมย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกุล จะแตกหักกับเจ้าของบ้านจันทร์ส่องหล้าพ่อของนายกอิ๊งค์หรือ???
ต้องไม่ลืมว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย คือรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงคมนาคม ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแล เป็นนายสุริยะ แห่งสามมิตร ที่ย้ายมาพลังประชารัฐมาเข้าสังกัดอยู่พรรคเพื่อไทย และนี่จึงพอฉายให้เห็นภาพเบื้องต้น ระหว่างสองพรรค สองกระทรวง ที่กำลังเปิดหน้าชนกัน นำพาไปสู่การแตกหักกันแล้วใช่หรือไม่
เรื่องนี้ ทีมข่าวTHE critics หรือใครต่อใคร ไม่ได้คิดเองเออเอง เพราะพบว่าเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวกรณีข้อพิพาทเขากระโดงกับการรถไฟ ที่ล่าสุดกรมที่ดินไม่ได้เพิกถอนโฉนดเขากระโดง โดยอ้างว่าไม่ใช่ที่ของรฟท.
“ตอนนี้เริ่มมีนักวิชาการออกมาพูดว่าคำสั่งทางปกครองของของกรมที่ดิน ใหญ่กว่าคำพิพากษาศาลฎีกา และขัดกันชัดเจนซึ่ง คำสั่งศาลฎีกา ในประเทศไทยถือว่าเป็นศาลสูงสุด ถ้าจะเปลี่ยนคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ต้องให้ศาลฎีกาเปลี่ยนคำวินิจฉัย จะไม่มีใครใหญ่กว่าคำพิพากษาศาลฎีกาได้”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เรื่องของคณะกรรมการฯก็ต้องไปตรวจสอบดู แม้แต่ศาลปกครองก่อนที่จะไปถึงตามมาตรา 66 ชี้ว่าที่ดินแห่งนี้เป็นที่ดินของรัฐอยู่แล้ว ต้องอยู่ในหลักนิติธรรม ต้องมีข้อยุติ เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดคือศาลฎีกาก็ต้องยุติตามนั้น
“เรื่องนี้ไม่ใช่ศาลฎีกาอย่างเดียว กฤษฎีกาก็วินิจฉัยแล้ว ป.ป.ช.ก็วินิจฉัยแล้ว ก็ถือว่าสิ้นสุด ที่สำคัญมีการบังคับคดีและยึดที่คืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่5,083 ไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟ ก็เป็นเรื่องของการรถไฟที่ต้องดำเนินการต่อไป” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
นั่นก็คือท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มีอีกสถานะ คือ หัวหน้าพรรคประชาชาติ พรรคที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสาขาพรรคเพื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะพื้นที่แห่งนี้เพื่อไทยไม่สามารถเจาะได้ จึงต้องอาศัยประชาชาติของ พ.ต.อ.ทวี ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันดีกับเจ้าของบ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อให้ได้ ส.ส.ในดินแดนปลายด้ามขวาน
นี่ยังไม่นับการแต่งตั้ง คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ที่กล่าวกันมาสักพักใหญ่ๆแล้วว่า อยู่ในกำมือของสว.สีน้ำเงินที่มีเสียงกว่า 160 คนในฝั่งสมาชิกวุฒิสภา ที่ต้องลงมติเอาหรือไม่เอา กรรมการในองค์กรอิสระ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ จัดการนักการเมือง และพรรคการเมืองที่กระทำผิด
ฉับพลันนั่นงเองที่จุดโฟกัสถูกฉายมาที่ ศาลรัฐธรรมนูญที่มีของร้อนอยู่ในมืออย่างคดีนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กำลังพ้นจากตำแหน่ง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
แม้คณะกรรมการสรรหาฯ คัดเลือกจนได้รายชื่อสองคนส่งไปที่วุฒิสภา แต่สุดท้าย ก็อยู่ที่ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่าจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรายชื่อที่ส่งไปหรือไม่ ทั้งหมดอยู่ที่สว.เสียงข้างมาก ที่ก็คือ สว.สีน้ำเงิน ที่มีร่วม 167 คนจาก 200 คนว่าจะเอาด้วยกับรายชื่อที่ส่งมาหรือไม่ หรือจะตีตกไม่โหวตเห็นชอบทั้งสองชื่อก็สามารถทำได้
สำหรับดร.นครินทร์ ที่จะหมดวาระ หากย้อนไปเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง โดยคำวินิจฉัยเป็นมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 โดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 เสียงข้างน้อย ที่เห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ไม่สิ้นสุดลง ซึ่ง 1 ใน 4 ก็คือ นายนครินทร์ นั่นเอง

#เนวิน #ทักษิณ #เปิดศึก #แตกหัก #เพิกถอนอัลไพน์ #ที่ดินเขากระโดง #ตลก.ศาลรธน. #คดีล้มล้างฯ #ยุบพท. #กรมที่ดิน #สว.น้ำเงิน #รฟท.