จากที่มีรายงานหลายฝ่ายออกมาคัดค้านอย่างแข็งขันไม่ให้รัฐบาลรีบเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา เพราะจะทำให้ไทยสูญเสียดินแดนได้ โดยมีรายงานถึงความผิดหากทำให้เสียอธิปไตย รวมทั้งความเป็นมาของเอ้มโอยูที่ต้องนำเข้าสภาก่อน!?!
โดยวันนี้ 09 พฤศจิกายน 2567 ผักกาดหอม คอลัมนิสต์ชื่อดังของไทยโพสต์ได้นำเสนอบทความถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งมีบางส่วนที่สำคัญระบุว่า “อนิจจาอิ๊งค์-อ้วน เดินหน้าต่อครับ…วานนี้ (๘ พฤศจิกายน) นายกฯ แพทองธาร กับ รองนายกฯ ภูมิธรรม เปิดแถลงข่าวกรณี MOU 2544 ไม่มีเกียร์ถอย ไม่ยกเลิก ฟังเหตุผลจากนายกฯ ๓๘ กะรัตรู้สึกวังเวงจริงๆครับ
…เรื่องฟ้องหรือไม่ฟ้องเกิดขึ้นได้ หากมีการยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นการที่เราพูดคุยกันระหว่างประเทศสำคัญมาก หากจะยกเลิก ยกเลิกเพื่ออะไร และยกเลิกทำไม และหากยกเลิกแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร คนไทยต้องคิดในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ควรจะมายกเลิกฝ่ายเดียว และทำให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ต้องมีการพูดคุยกันก่อน จึงอยากขอเวลาเพื่อที่จะไปพูดคุยกัน…
จริงหรือยกเลิก MOU 2544 เจ้าปัญหาแล้ว ไทยจะมีปัญหากับกัมพูชา แทนที่จะคิดกลับกันว่า MOU 2544 คือตัวปัญหา จะทำให้ไทยกับกัมพูชาต้องขัดแย้งเรื่องเขตแดนกันในอนาคต
ทำไมต้องยกเลิก MOU 2544 มันมีเหตุผลครับ ไม่มีหรอกครับที่ กัมพูชา จะบอกว่าที่ขีดเส้นผ่าเกาะกูดนั้น ขีดขำๆ ไม่จริงจังอะไร จนทุกวันนี้เรายอมรับการขีดเส้นของกัมพูชาเพื่อมาคุยกันว่าจะแบ่งเขตแดนกันอย่างไร ฉะนั้นเลิกพูดเถอะครับว่ากัมพูชาไม่ได้ต้องการเกาะกูด เขาอาจไม่ต้องการจริงๆ ก็ได้ แต่ขีดเส้นแบบนี้เขาอาจได้เขตแดนทางทะเลจากไทยเพิ่ม
เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิละเมิดอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๕๘ ฉะนั้นควรต้องให้กัมพูชาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปทั้งหมดของตนให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศเสียก่อน
ไทยไม่ควรเจรจาภายใต้การลากเส้นที่ผิดกฎหมายของกัมพูชา เห็น นายกฯ โพยทองธาร เร่งรัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ให้เสร็จหลังประชุมเอเปก เพราะทางนายกฯ กัมพูชาร้องขอ
ไม่ต้องรีบครับ อย่าลุกลี้ลุกลนจนเกินงาม ราวกับว่าหากไม่สามารถขุดน้ำมัน ก๊าซ ขึ้นมาใช้ได้ในรัฐบาลนี้มันจะเน่าจะบูด เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนสูงมาก หากพลาด รัฐบาลก็จบเหมือนกัน”
(อ่านฉบับเต็มhttps://www.thaipost.net/columnist-people/687527/)
ขณะที่ทีมข่าว THE critics ได้ตรวจสอบถึงคำว่า MOU มาจาก บันทึกความเข้าใจ (Memorandum Of Understanding) โดยพบตามข้อสรุปของกระทรวงการต่างประเทศ ตามหลักฐานบนหน้าเว็บไซต์ ที่ได้สรุปว่า MOU เป็นสนธิสัญญาอย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเป็นสนธิสัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับดินแดนจะต้องนำเข้ารัฐสภา มาตั้งแต่สมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และต่อเนื่องมาจนถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 และ รัฐธรรมนูญปี 2560
ทั้งนี้ แต่ปรากฏว่านายทักษิณ ในขณะนั้น ไม่ได้เอาเข้ารัฐสภาพิจารณา ซึ่งทำให้กล่าวได้ว่า MOU 44 ดังกล่าว ยังไม่มีผลสมบูรณ์ และยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ โดยจะต้องเอาเข้ารัฐสภาก่อน ซึ่งหากไปดำเนินการใดๆนับจากนี้ ก็อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา 119 ได้ ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต และนั่นก็แสดงว่า น.ส.แพทองธาร นายกรัฐมนตรี ยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมการไปเจรจาได้ ตามที่ให้สัมภาษณ์ว่าต้องไปเจรจามาก่อนแล้วค่อยมานำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119 ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
#รัฐบาลอิ๊งค์ #กต. #MOU44 #ทักษิณ #สภาฯ #เจรจา #ม.119 #โทษประหาร #สนธิสัญญา #กัมพูชา #ภูมิธรรม #จำคุก #พื้นที่ทับซ้อน #เกาะกูด #แพทองธาร