จากกรณีนำรายงานกรรมาธิการฯในเรื่องนิรโทษกรรมโดยพ่วงผู้กระทำผิดมาตรา112เข้าไปด้วย ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลออกมาคัดค้านอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิใจไทย ที่วันนี้ถูกมองว่าถือไพ่เหนือเพื่อไทย ทั้งยังคุมเกมสภาสูงอย่างเบ็ดเสร็จ!?!
โดยล่าสุดวันที่ 20 ตุลาคม 2567 น.ส.บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี และโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงท่าทีของพรรคภูมิใจไทยที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต่อการพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีการพิจารณากันอีกครั้งในวันที่ 24 ตุลาคมนี้
“พรรคภูมิใจไทยไม่สามารถลงมติรับรายงานดังกล่าวได้ เพราะเนื้อหามีความกำกวม ไม่ชัดเจน ที่สำคัญที่สุดก็คือ เห็นว่าการนิรโทษกรรมต้องเป็นเรื่องคดีที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง แต่ปรากฏว่าเนื้อหาในรายงาน กลับมีเรื่องให้นิรโทษกรรมคดี 110 กับคดี 112 เข้ามาด้วย ซึ่งพรรคเห็นว่าทั้งสองกรณี ไม่ใช่ความผิดที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง จึงไม่สมควรมาอยู่ในรายงานดังกล่าวตั้งแต่แรก
“จึงเป็นรายงานที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ควรเอาบางเรื่องอย่างเรื่อง 112 มารวมไว้ด้วย จึงเป็นรายงานที่มีปัญหา ดังนั้นหากกมธ.ไม่ยอมถอนรายงานกลับไปพิจารณาใหม่ แล้วจะให้มีการลงมติรับทราบรายงาน-ข้อสังเกตของกมธ.ฯ พรรคภูมิใจไทยก็จะลงมติไม่รับทราบ หรือไม่เห็นชอบรายงานดังกล่าว” น.ส.บุณย์ธิดา ระบุ
ขณะที่ในวันนี้ (21ต.ค.67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการนัดรับประทานอาหารมื้อค่ำของพรรคร่วมรัฐบาลเย็นนี้
โดยผู้สื่อข่าวถามว่าในวงรับประทานอาหาร จะมีการหารือถึงแนวทาง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมหรือไม่ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาล ยังมีความเห็นต่างจากพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม กล่าวว่า แล้วแต่พรรคร่วมว่าจะคุยกันในเรื่องนี้หรือไม่
“เป็นธรรมดาที่พรรคร่วมรัฐบาลมาจากต่างพรรค คงไม่เห็นไปในทิศทางเดียวกันหมด เรื่องที่เห็นส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องหลักๆที่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา นอกจากนั้นจะต้องปรับปรุงกัน เมื่อถึงเวลาพูดคุยกันแล้ว เรื่องไหนเป็นเรื่องของจุดยืน เขายืนยันมาชัดเจน ก็ต้องคุยกันจุดร่วมกันอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะมีเวทีให้พูดคุยกันอยู่แล้ว” นายภูมิธรรม กล่าว
นั่นคือสิ่งที่หลายคนก็ตั้งข้อสังเกต การทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยไม่ได้ไปในแนวทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคภูมิใจไทย ที่ต้องย้ำว่าวันนี้ถือไพ่เหนือกว่า โดยทุกสายตาโฟกัสไปที่สภาสูงอันมีสว.สีน้ำเงิน เป็นขุมข่ายอำนาจที่สำคัญ ทำให้เกิดภาพนายทักษิณ ชินวัตร ถึงกับต้องเชิญนายเนวิน ชิดชอบ พร้อมนายอนุทิน ชาญวีรกุล เข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า
สาระสำคัญของวุฒิสภาก็คือคัดเลือกลงมติผู้ดำรงตำแหน่งขององค์อิสระต่างๆ ที่เปรียบเสมือนไม้เบื่อไม้เมากับเครือข่ายพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด หลายครั้งต้องประสบปัญหามีอันเป็นไปทางการเมืองก็เพราะการตรวจสอบของบรรดาองค์กรอิสระ
โดยในวันนี้ 21 ตุลาคม 2567 จะเป็นวันแรกของการเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาคัดเลือกเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึง 3 คนในรอบเดียวกัน เพื่อมาแทนพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตประธานป.ป.ช. ที่พ้นจากการเป็นป.ป.ช.ไปแล้วเมื่อ 9 กันยายน อีกทั้งในปลายปีนี้ คือวันที่ 30 ธันวาคม ก็จะมีกรรมการป.ป.ช.อีกสองคนพ้นจากตำแหน่งเพราะอยู่ครบวาระเก้าปี คือ วิทยา อาคมพิทักษ์ และนางสุวณา สุวรรรณจูฑะ
การรับสมัครคัดเลือกและเห็นชอบป.ป.ช.ทั้งสามคนในรอบนี้ ถูกจับตามองอย่างมาก เพราะจะมีการเลือกป.ป.ช.ใหม่ถึงสามคน ที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนเสียงป.ป.ช.ที่มี 9 คน ที่ย่อมมีผลต่อการลงมติของป.ป.ช.ในเรื่องต่างๆ
แม้คณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธานจะเลือกใครมา แต่ก็ต้องส่งให้วุฒิสภา ลงมติลับว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ โดยทั้งหมดอยู่ที่ การลงมติของสว.ที่ปัจจุบัน ที่เสียงส่วนใหญ่คือสว.สีน้ำเงิน ที่ล่าสุดเพิ่มขึ้นจากการเช็คชื่อพบว่า สว.สีน้ำเงิน มีประมาณ 167 คน ที่จะกำหนดว่าจะให้ใครไปทำหน้าที่เป็นป.ป.ช. รอบนี้ถึงสามเก้าอี้
นอกจากนี้ สว.กำลังเตรียมลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ชุดใหม่อีก 6 คนที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาฯเรียบร้อยแล้ว ซึ่งใน 6 คนดังกล่าว จะต้องมีการไปเลือกประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)อีกด้วย
รวมถึงก็จะมีการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ผู้ตรวจการแผ่นดินอีกหนึ่งตำแหน่ง โดยขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการเตรียมส่งเอกสารไปให้วุฒิสภา ตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ของผู้ได้รับการเสนอชื่อ ซึ่งท้ายที่สุดอยู่ที่สว.สีน้ำเงิน ที่กุมเสียงข้างมากว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
#ภท. #พท. #อนุทิน #เนวิน #ทักษิณ #นิรโทษฯ112 #สภา #คดี112 #สว.สีน้ำเงิน #วุฒิสภา #ปปช. #คตง. #ผู้ตรวจการฯ