จากที่มีรายงานถึงการจะรื้อฟื้นคดีสลายม็อบปี2553 โดยแกนนำคนเสื้อแดงบางรายออกมาเดินหน้าถึงเรื่องนี้ ขณะที่เพื่อไทยจับมือร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ และความเสียหายจากเหตุการณ์วางเพลิงหลายสิบล้านซึ่งศาลสั่งแกนนำจ่ายชดใช้นั้น
ล่าสุดวันที่ 18 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน แถลงผลการประชุมกมธ. วันนี้มีการพิจารณากรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นการรับเรื่องต่อมาจากกรณีที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. ยื่นหนังสือถึงนายชัยธวัช ตุลาธน อดีตผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
“โดยกมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานอัยการ ซึ่งมีวาระการพิจารณา ได้แก่ 1.ทวงถามความคืบหน้าการไต่สวน และการชันสูตรพลิกศพ ที่ยังไม่ได้รับความชัดเจน
2.กมธ.ได้เชิญตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองมาหารือ ซึ่งมีประเด็นที่เห็นตรงกัน คือเสนอหลักการให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร เพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทำได้อย่างลุล่วง
3.กมธ.จะเรียกเอกสาร และสำนวนคดีทั้งหมด ทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ ดีเอสไอ กลับคืนมา เพื่อส่งมอบต่อให้กับทนายความ และญาติผู้เสียชีวิต”
ทั้งนี้ทำให้หลายคนหันกลับมาสนใจเหตุการณ์เมื่อปี 2553 อีกครั้ง ทั้งความสูญเสีย ซึ่งไม่ได้มเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมเท่านั้น หากแต่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ รวมทั้งสื่อมวลชนก็สูญเสียด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการลอบวางเพลิงหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ขณะที่ศาลได้มีคำตัดสินออกมาให้แกนนำเสื้อแดงต้องชดใช้ความเสียหาย แต่มาถึงวันนี้ก็ยังไม่ทราบว่าได้มีการชดใช้ตามจำนวนนั้นแล้วหรือไม่
สำหรับคดีดังกล่าวเปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ที่ศาลแพ่ง ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ 1762/2554 ซึ่งนายประสงค์ กังวาฬวัฒนา เจ้าของกิจการอาคารพาณิชย์ ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน)
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลย ฐานละเมิดเรียกค่าหาย และผิดตามสัญญาประกันภัย
คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นายจตุพร นายณัฐวุฒิ และนพ.เหวง จำเลย ร่วมกันชำระเงิน 30,509,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
“ต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษา แก้ให้จำเลยร่วมกันชำระค่าอาคารพาณิชย์ที่พิพากษาพร้อมทรัพย์สินที่โจทก์เสียหาย 21,356,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พ.ค.53 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับค่าขาดผลประโยชน์ 1,200,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 100,000 บาท ไม่เกิน 24 เดือน นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 พ.ค.54) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระค่าอาคารพาณิชย์ที่พิพากษาพร้อมทรัพย์สินที่โจทก์เสียหายเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ให้เสียค่าเสียหาย ได้ไม่เกิน 24 เดือน ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้ง 3 ศาล”
โดยในวันเดียวกัน นายจตุพร เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า ตนและแกนนำนปช.ถูกศาลแพ่งพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายในคดีวางเพลิงช่วงการชุมนุม นปช.ปี 53 รวมแล้ว 2 คดี ในส่วนของตนและนายณัฐวุฒิ ต้องชดใช้เงินบวกดอกเบี้ยแล้ว ประมาณ 20 ล้านบาท นพ.เหวง กับนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง บวกดอกเบี้ยแล้วคนละประมาณ 10 กว่าล้านบาท
“รู้อยู่แล้วว่าสุดท้ายหนีไม่พ้นที่จะนำไปสู่การพิทักษ์ทรัพย์ และล้มละลาย นักรบบาดเจ็บหมด ทั้งติดคุก ล้มละลาย จ่อที่จะเข้าไปในคุก” นายจตุพร กล่าวในขณะนั้น
อย่างไรก็ตามทีมข่าว THECriTics จึงได้ตรวจสอบคดีลอบวางเพลิงอีกหนึ่งคดีตามคำเปิดเผยของนายจตุพร ก็พบว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา มีคำพิพากษาคดีแพ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6646-6647/2561 เรื่องการวางเพลิงเผาทรัพย์ช่วงระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 โดยมีการฟ้องเรียกค่าเสียหาย
“ศาลพิพากษาให้ นายจตุพร, นายณัฐวุฒิ และนายอริสมันต์ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้เจ้าของอาคาร ถนนราชปรารภ ที่ถูกเผารวม 19,347,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี”
โดยนายราเมศ ระบุว่า ศาลฎีกาให้เหตุผลสรุปสาระสำคัญว่า คำพูดของนายจตุพร, นายณัฐวุฒิ และนายอริสมันต์ ล้วนเป็นการปราศรัยที่ยุยงส่งเสริม หรือ สนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมร่วมกันแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อาคารและทรัพย์สินที่ถูกบุคคลผู้ชุมนุมในกลุ่ม นปช. วางเพลิงเผาทำลายนั้น เป็นผลที่เกิดขึ้นจากคำกล่าวปราศรัยของทั้ง 3 คน
ในวันเดียวกันนี้ นายจตุพร ออกมากล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ศาลแพ่งนัดอ่านคำพิพากษา ซึ่งทั้งตน นายณัฐวุฒิ และนายอริสมันต์ ไม่ทราบเพราะไม่ได้รับหมายศาล ซึ่งเมื่อคำตัดสินออกมาไม่ว่าจะอย่างไรน้อมรับคำตัดสิน
“คดีนี้โจทก์เจ้าของอาคารพาณิชย์และผู้เช่าที่ ถ.ราชปรารภ ที่ถูกเพลิงไหม้ ฟ้องผู้เกี่ยวข้องหลายคน พวกตน 3 คน เป็นจำเลยที่ 6-8 ส่วน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 11
กรณีมีการวางเพลิงไม่มีการจับกุมผู้ต้องหาได้ในคดีอาญา แต่ในคดีแพ่ง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารก็ยืนยันไม่ได้ว่าใครเผา แต่ฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุมเพื่อเรียกค่าเสียหาย ซึ่งศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ยกแต่มาลงฎีกา ให้พวกตน 3 คน ชดใช้ 19.3 ล้าน บวกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 เป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท” นายจตุพร กล่าว
นอกจากนี้ นายจตุพร กล่าวอีกว่า ตนอยากชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดขึ้นทุ่มเศษๆ วันที่ 19 พ.ค. 53 ส่วนการเชื่อมโยงคำพูดของพวกตนก็เป็นการพูดไว้ก่อนเหตุการณ์ 1 เดือนและ 3 เดือน พวกตนจึงไม่คิดว่าผลจะออกมาแบบนี้ การระบุว่าตนพูดในฐานะประธาน นปช.ก็ไม่จริงเพราะตอนปี 2553 นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ยังเป็นประธานแต่ตนมารับตำแหน่งเมื่อปี 2557
“คดีนี้ไม่มีผู้ต้องหาสักรายเดียวที่ถูกจับกุมและซัดทอด โจทก์บอกความชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ให้ออกจากอาคารและมีการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จ แต่เมื่อฎีกาวินิจฉัยก็ต้องยอมรับ ถือว่ายุติแบบไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัวคนเราก็เป็นหนี้กันได้
เดี๋ยวก็จะมีการขยายกันว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง แล้วผมเชื่อว่านี่เป็นการหยิบใช้ประโยชน์ทางการเมืองจนเกินงามกัน แต่เราไม่ใช่ประเภท ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย แต่ก็ต้องมานั่งคุยกันว่าหลังจากนี้ขั้นตอนตามกฎหมายอย่างไร” นายจตุพร กล่าวในขณะนั้น
#คำพิพากษา #ธิดา #แกนนำเสื้อแดง #เหวง #คดีวางเพลิง #จตุพร #ณัฐวุฒิ #เหวง #อริสมันต์ #วางเพลิงเซ็นเตอร์วัน #ราชปรารภ