จากที่มีการโปรดเกล้าฯครม.ใหม่ ปรากฏชื่อของนักกฎหมายที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศ ซึ่งอยู่กับพรรคเพื่อไทยมานานพอสมควร กระทั่งวันนี้ได้เป็นรัฐมนตรี กับภารกิจที่ดูจะล่อแหลมกับการแก้รัฐธรรมนูญที่สุ่มเสี่ยงต่อรัฐบาลที่จะพังได้???
โดยเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับมอบหมายว่าให้ดูแลหน่วยงานใด แต่นายกรัฐมนตรีน่าจะมอบหมายให้ดูเรื่องกฎหมาย ที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาฯ
“ตนคิดว่างานสำคัญคือเรื่องการผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ รวมถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการนำเสนอ เช่น กฎหมายซอฟต์พาวเวอร์”
เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการตีกรอบเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมให้มีความชัดเจนมากขึ้นหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หลักการของเราคือให้สภาร่างรัฐธรรมนูญร่าง (สสร.) เป็นผู้ดำเนินการแก้ไข ซึ่งยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดตอนนี้ ส่วนสภาจะเสนอแก้อะไรก็เป็นสิทธิ์ที่ทำได้
“มาตรฐานเรื่องจริยธรรม ผมเคยบอกว่าปัญหาคือความไม่ชัดเจน และเกิดปัญหาในการตีความ ซึ่งเป็นปัญหาของการเขียนรัฐธรรมนูญ และที่วิตกคือหากตีความกันอย่างกว้างขวางอาจจะทำให้การบริหารประเทศเป็นไปไม่ได้ เช่น มีคนเคยถูกใบสั่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มาถูกรื้อฟื้นว่าฝ่าฝืนกฎจราจรจะเป็นความผิดมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่
ดังนั้นมันก็ยากแก่การชี้วัด ผมมองว่าเรื่องนี้ ต้องทำอย่างไรเพื่อให้เป็นมาตรฐาน ไม่ต้องตีความอะไรมากมาย ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเขียนกฎหมาย ในอนาคตก็ให้เขาไปว่ากันเรื่องการแก้ไขถ้อยคำ ซึ่งหากมีการตั้งสสร. ก็ต้องให้เขาไปคิด” นายชูศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าเป็นห่วง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หรือไม่ ที่ยังไม่ได้ทำงานก็ถูกยื่นตรวจสอบหลายคดีแล้ว นายชูศักดิ์ กล่าวว่า นายกฯระมัดระวังเรื่องนี้มาก เพราะทราบปัญหาของสังคมไทย ซึ่งนายกฯมีทีมคณะทำงานเตรียมการเรื่องพวกนี้ไว้ทั้งหมด เพื่อเตรียมความพร้อมไม่ให้เกิดการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม และกฎหมาย อีกทั้งนายกฯก็เห็นประสบการณ์แล้วในอดีตที่มีการร้องกันไปมา
เมื่อถามว่า เท่าที่ดูมีประเด็นใดบ้างที่นายกฯ น่าจะสุ่มเสี่ยงเรื่องจริยธรรม นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีอะไรเพราะได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯแล้ว ส่วนประเด็นกฎหมายที่มาร้องทีหลัง นายกฯก็เตรียมการแก้ไขไว้หมดแล้ว เช่น เรื่องหุ้นจะทำอย่างไร เพราะมีบรรทัดฐาน และคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว
ส่วนประเด็นครอบงำก็ชัดเจนว่าไม่ใช่เพราะเป็นแค่การให้คำปรึกษา เป็นเสรีภาพที่ทำได้ ดังนั้นตนขอยืนยันในฐานะที่เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ตนเห็นว่าไม่ได้มีการครอบ และจะไม่ยอมให้ใครมาสั่ง
เมื่อถามว่า หากนายชูศักดิ์ มาดูเรื่องกฎหมายจะเป็นการปิดตำนานนายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษาของนายกฯ ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องกฎหมายในสมัยนายเศรษฐา ทวีสิน หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ
ก่อนหน้านี้ 26 สิงหาคม 2567 นายชูศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่มีบุคคลยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคเพื่อไทยกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครอบงำพรรคเพื่อไทยว่า ถือเป็นเรื่องเก่าๆ เดิมๆ เอาประเด็นการเมืองมาจับผิดกัน ทั้งนี้ การที่บุคคลใดจะให้คำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะ ถือเป็นเรื่องปกติในสังคมการเมือง
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า เรื่องปัญหาการครอบงำนั้นเกิดขึ้นในยุคที่มีการทำรัฐประหารยึดอำนาจ และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีเป้าหมายสกัดกั้นพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะ ซึ่งขัดหลักนิติธรรม
“เรากำลังติดกับดักทางการเมือง ดังนั้นขอให้เลิกเอากับดักทางการเมืองนี้มาทิ่มแทงกันเอง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนกฎหมายพรรคการเมืองในขณะที่เรากำลังจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้” นายชูศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญปี2560 เกิดขึ้นช่วงที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ โดยกฏหมายถูกออกแบบวางกลไก หรือมาตรการต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นฉบับที่ได้ชื่อว่า ปราบโกง เพราะมุ่งควบคุมตรวจสอบนักการเมือง ทั้งยังมีบทลงโทษต่อผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตซึ่งนำโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
#ชูศักดิ์ #มีชัย #รัฐธรรมนูญ #จริยธรรม #วิษณุ #เนติบริกร #กรธ. #อุ๊งอิ๊ง #พล.อ.ประยุทธ์