จากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เศรษฐาพ้นนายกรัฐมนตรีด้วยการวางมาตรฐานเรื่องจริยธรรม ซึ่งนอกจากกรณีตั้งรัฐมนตรีแล้ว ยังมีกรณีของสส.และสว.ที่ทำผิดฐานจริยธรรมร้ายแรงด้วย โดยมีนักการเมืองตัวอย่างถูกประหารทางการเมืองตลอดชีวิตมาแล้ว
ล่าสุดกรณีกระทำความจริยธรรมร้ายแรงถูกนำมากล่าวถึงอีกครั้งเมื่อวานนี้ (28 ส.ค.67) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุว่า “มีเพื่อนส่งข่าวนี้ให้ดิฉันดู ตามข่าวมีความปรากฏว่า นายสรวงศ์(เลขาธิการพรรคเพื่อไทย) เดินหน้าหาพันธมิตรแบบ ยกพรรคและยกก๊วน ทั้ง ปชป. -ทสท.-ธรรมนัส-พรรคเล็ก หวังมีเสียง 319 หรือมากกว่าตอนโหวต อุ๊งอิ๊ง
ดิฉันและกรรมการบริหารพรรคไทยสร้างไทย ขอยืนยันว่า พรรคไทยสร้างไทยขอทำหน้าที่เป็น #ฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้นในการให้ข่าวจากฝั่งใดก็ตาม อย่ามาอ้างชื่อ #พรรคไทยสร้างไทย ไปสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ อย่างเด็ดขาด!!!
ในการโหวตเลือกคุณ #อุ๊งอิ๊ง เป็น #นายก มีสส.ของพรรคไปโหวตให้ 6 คน ซึ่งพรรคได้ ให้กรรมการจริยธรรมของพรรคดำเนินการเรียกทั้ง 6 คนมาสอบข้อเท็จจริง โดยเรียกทีละคน เพราะพรรคต้องอำนวยความยุติธรรม ให้ทุกคนอย่างเต็มที่ จะให้ทุกคนได้มีโอกาสชี้แจงและรับฟังเหตุผลของแต่ละคนอย่างเที่ยงตรง
ซึ่งคณะกรรมการจริยธรรม ได้พิจารณาลงโทษ คนแรกไปแล้ว โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยสร้างไทย เพราะกระทำการผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง และผู้บริหารพรรคกำลังพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย ต่อผู้กระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงต่อไป
นักการเมืองควรเป็นตัวอย่างให้กับสังคม และยังไม่ละอายใจ กล้าพูดออกมาว่า พร้อมที่จะดึงคนของพรรคการเมืองอื่นออกมาแบบเป็นก๊วนก็ได้ เพื่ออำนาจของตนเอง ทั้งที่พรรคการเมืองนั้นเขาไม่ได้เห็นชอบ ถือเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าข่ายการกระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง”
สำหรับ มาตรฐานทางจริยธรรม เป็นกฎหมายบังคับใช้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระด้วย แต่อำนาจในการออกมาตรฐานทางจริยธรรม การดำเนินคดี และการลงโทษล้วนอยู่ในมือของศาลและองค์กรอิสระ
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาบังคับใช้ ในการจัดทำต้องรับฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย โดยเนื้อหาต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง
มาตรฐานทางจริยธรรมถูกใช้บังคับแก่ สส. สว. และครม. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 วรรคสอง โดยมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ฉบับนี้แบ่งออกเป็นทั้งหมดสี่หมวดด้วยกัน โดยหมวดที่ 1-3 ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานจริยธรรมที่ต้องปฏิบัติตาม โดยมีหมวดที่สำคัญที่สุดคือ หมวดที่ 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อ 5-10 ซึ่งหากใครถูกตัดสินว่าผิดในหมวดนี้ก็จะเข้าข่ายผิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เช่น
ข้อ 7 ต้องถือผลประโยขน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติกรรมที่รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
รัฐธรรมนูญ 2560 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และหาก ป.ป.ช. เห็นว่ามีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
หากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าว ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วยก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 มีนักการเมืองถูกศาลฎีกาตัดสินว่าผิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงจำนวนถึงสี่คน โดยได้รับบทลงโทษที่รุนแรงเหมือนกันคือถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในทุกระดับ และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง โดยทั้งสี่คนประกอบด้วย
ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ศาลฎีกาตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จากกรณี เข้ายึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบเมื่อ 18 ปีก่อน
กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลฎีกาตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จากกรณีรุกป่าเขาใหญ่
ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ศาลฎีกาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จากกรณีถูกกล่าวหาเสียบบัตรลงคะแนนแทน
พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ศาลฎีกาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ กรณีโพสต์ภาพและข้อความลงเฟซบุ๊ก กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่ร้าย
#รธน.60 สส. #สุดารัตน์ #ทสท. #จริยธรรมร้ายแรง #นักการเมือง #ช่อ พรรณิการ์ #ปารีณา #ศาลฏีกา #ปปช.