จากสถานการณ์ทางการมืองกำลังย่างเข้าสู้จุดพลิกผันหลายเหตุการณ์ ท่ามกลางการผลักดันนิรโทษกรรมคดี112 ซึ่งมีผู้ต้องหาที่ตั้งข้อสังเกตุมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วง5-6ปีที่ผ่านมา บางส่วนหลบหนี บางคนถูกกุมขังอยู่ในเรือนจำ
สถานการณ์ของผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อย่าง อานนท์ นำภา ถูกกล่าวถึงอีกครั้ง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 โดยเพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ลุ้นพรุ่งนี้พิพากษา 112 คดีที่ 4 อานนท์ นำภา
จับตา อานนท์ นำภา เสี่ยงโทษจำคุก 112 สะสมสูงเกิน 15 ปี หากพรุ่งนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเกิน 5 ปี จากคดี 112 คดีที่ 4 จาก 14 คดี และอาจถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำคลองเปรม ด้านเครือข่ายนิรโทษกรรม ประชาชน เดินหน้าขอนิรโทษกรรมรวมคดี 112
ต่อมาวัน 25 กรกฎาคม ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา ที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายอานนท์ นำภา ทนายความแกนนำกลุ่มราษฎร เป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ป.อาญา มาตรา112และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง จำเลยถูกขังและให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
ทั้งนี้ อัยการฟ้องว่า จำเลยใช้สื่อโซเชี่ยลเฟซบุ๊ก ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เขียนข้อความ ลงในระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อความเท็จมีเจตนาให้ผู้พบเห็นหลงเชื่อ โดยในวันที่11มกราคม 2564 จำเลยโพสต์ข้อความ ทำนองว่าการที่สถาบัน ลงมาบริหารประเทศด้วยตนเอง ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย และเมื่อคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาพูดก็โดนมาตรา 112 และข้อความอื่นๆ ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วสถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงและฝ่าฝืนกฎหมาย
โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัว นายอานนท์ จำเลย ซึ่งอยู่ในชุดนักโทษสีน้ำตาล-ตัดผมสั้นเกรียน มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยมี นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มเพื่อน บุคคลใกล้ชิด ภรรยาและบุตรสาว ประมาณ 50 คน มาติดตามและให้กำลังใจ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว พิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ,พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จำคุก 2 กระทง กระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้างลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 4 ปี และให้นับโทษต่อจากคดีหมายเลขดำ อ.2495/2564 ของศาลอาญา ,หมายเลขดำ อ.2804/2564 ของศาลอาญา และหมายเลขดำ อ.1676/2564 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
นั่นคือคำพิพากษาของศาลอาญา ซึ่งสำหรับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี
ขณะที่สังคมคงตั้งคำถามถึงการที่เพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ได้โพสต์ระบุว่า อานนท์เสี่ยงโทษจำคุก สะสมสูงเกิน 15 ปี หากศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเกิน 5 ปี อาจถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำคลองเปรม ซึ่งคำถามก็คือทำไมต้องย้าย และหากจะต้องย้ายไปจริงมีความแตกต่างจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครอย่างไร
ทั้งนี้ทีมข่าว THE TRUTH ได้ตรวจสอบก็พบว่าเว็บไซต์ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้เผยแพร่ข้อมูลบางส่วนระบุว่า สิ่งที่กำหนดว่าจะได้อยู่คุกไหนก็คือ ท้องที่ที่ทำความผิด ถูกส่งฟ้องที่ศาลไหน ก็ถูกจำคุกที่เรือนจำประจำศาลนั้น กรมราชทัณฑ์เตรียมเรือนจำไว้รองรับกว่า 130 แห่งทั่วประเทศ
ความรุนแรงของคดี-ถ้าจำคุกนาน จะถูกส่งไปยังเรือนจำความมั่นคงสูง ซึ่งได้แก่ เรือนจำกลาง ต่างๆ เช่น เรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางประจำเขต และถ้าโทษไม่สูง ก็จะถูกขังที่ เรือนจำจังหวัด หรือ เรือนจำอำเภอ
นอกจากนี้ทีมข่าว THE TRUTH ยังได้พูดคุยกับทนายความถึงความแตกต่างระหว่างเรือนจำคลองเปรม กับเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครด้วยว่า เบื้องต้นคือ ความหนักเบาของโทษ
“เรือนจำพิเศษกรุงเทพสำหรับผู้ที่โทษไม่หนัก ที่อยู่ไม่แออัด จะสะดวกสบายกว่าที่เรือนจำคลองเปรม ซึ่งที่อยู่จะมีความแออัดมากกว่า ที่นี่สำหรับผู้ที่มีโทษหนัก”
#คุกคลองเปรม #แกนนำ3นิ้ว #อานนท์ #คดี 112 #นิรโทษกรรม #เรือนจำพิเศษกรุงเทพ