การชุมนุมสารธารณะต้องแสดง วุฒิภาวะทางความคิด ไม่ใช่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง
ดร.เวทิน ชาติกุล นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย
การออกมาชุมนุมแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่ได้เป็นปัญหา (แม้ว่าโดยหลักการจะเห็นว่าควรเป็นวิธีสุดท้าย เพราะมีปัจจัยความเสี่ยงมากกว่า)
ระบอบประชาธิปไตยเปิดให้ รัฐสภา พื้นที่โซเซียล เป็นพื้นที่ เปิดให้ “ชุมนุมทางความคิด” ได้แสดงจุดยืน ก็ทำกันไปเพราะไม่เสี่ยงต่อการปะทะ บาดเจ็บ ล้มตาย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งใดก็ตาม
กระทั่งวิธีการทางรัฐสภามันไปไม่ได้ มันใช้การไม่ได้ (แบบการลักหลับ พรบ.นิรโทษกรรม) จะออกมาลงถนนถ้าต้องทำก็ต้องทำ
แต่ต้องไม่ทำอย่าง อันธพาล และแสดงให้ชัดว่าที่ เสียแรง เสียเวลา ออกมาบนถนนแล้วนี่ เพื่ออะไร?
นั่นคือได้แสดง วุฒิภาวะทางความคิด วุฒิภาวะทางปัญญา และวุฒิภาวะทางอารมณ์ พอที่จะให้สังคมส่วนที่เหลือเห็นคล้อยกับการออกมาแสดงจุดยืนหรือไม่
ทุกการชุมนุมอย่างมีอารยะมีกติกาของมัน
เงื่อนไขที่สำคัญที่สุด ในการชุมนุมคือ ความปลอดภัยของผู้ร่วมชุมนุม
ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ผู้ที่เป็นแกนนำและผู้มาร่วมชุมนุม ย่อมต้องตระหนักและต้องร่วมกันไม่สร้างเงื่อนไขของความเกลียดชังระหว่างกัน ยั่วยุ อันจะนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม
ดังที่เราเคยมีบทเรียนมาแล้วในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่พยายามลดเงื่อนไขที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมกลางเมืองหลวงในที่สุด
ผู้ที่สร้างเงื่อนไขดังกล่าวขึ้นมา ก็อาจใช้เป็นเครื่องมือยั่วยุฝ่ายตรงข้าม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่เลวร้าย ไม่ดี ให้กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม
เพราะย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม จะรู้สึก โกรธ แค้น ต่อเงื่อนไขดังกล่าว
อันจะนำไปสู่การเผชิญหน้า และสิ่งที่คาดเดาไม่ได้
อันเป็นเรื่องเลวร้าย และทำให้การชุมนุมนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ยกเว้นแกนนำผู้ชุมนุมตั้งใจใช้มวลชนเป็นเครื่องมือให้เป็นแบบนั้นอยู่แล้วตั้งแต่แรก