จากที่หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ “คุณปลื้ม” พิธีกรและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ พูดถึงการเรียนจากที่บ้านอ้างว่านี่คือการขังเด็กโดนขังไว้ในบ้านควรเปิดเทอมให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียน พร้อมยกตัวอย่างต่างประเทศที่เปิดเรียนแล้วนั้น
กระทั่งล่าสุดคุณปลื้ม ยังโพสต์ข้อความถึงเรื่องนี้ลงในทวิตเตอร์ว่า ถ้ารัฐบาลไม่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง และมัวแต่สร้างความกลัวให้ประชาชน ก็แสดงว่ามีนัยยะอื่นแฝง ไม่ใช่ปราบไวรัสแล้ว คือถูกสั่งมาให้ห้ามเด็กไปโรงเรียนเลยต้องมานั่งบังคับให้เด็กเรียนจากบ้านให้ได้เเค่นั้น ทั้งที่โรคนี้ไม่ระบาดเเล้ว เเละเด็กก็ไม่มี Receptors ที่จะติดโรคในระดับที่สามารถเเพร่เชื้อ ฉวยโอกาสลงโทษเด็ก เเย่กว่านี้มีอีกมั๊ย?!
วันนี้(8พ.ค.63) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ หมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมากล่าวถึง การเรียนการสอนในยุค โควิด 19 ว่า ประมาณการณ์กันว่า นักเรียนและนักศึกษาถึงร้อยละ 98.5 ของโลกที่ต้องหยุดเรียน รวมทั้งประเทศไทยด้วย ขณะนี้ยังประกาศหยุดการเรียนการสอนแบบปกติ และจะมีการกำหนดการเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
การกำหนดกฎเกณฑ์การไปโรงเรียน การเรียนการสอนจะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ในเด็กเมื่อติด โควิด 19 อาการจะน้อยมาก หรือไม่มีอาการ แต่สามารถนำโรคไปติดคนในบ้านโดยเฉพาะปู่ ย่า ตา ยายได้ ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นมาตรการในการเรียนการสอน ครู นักเรียนและผู้ปกครอง ในระบบวิถีชีวิตใหม่ จะต้องเปลี่ยนไปและจะต้องปรับตัวให้ได้
ในปีนี้ การไปโรงเรียนจะต้องน้อยลง การเรียนทางไกล จะต้องมากขึ้น การเรียนการสอน จะเปลี่ยนเป็นแบบ เรียนที่บ้าน ทำการบ้านที่โรงเรียน นักเรียนจะต้องมีการสลับกันไปโรงเรียน มีภาคเช้า ภาคบ่าย การสลับวันไปโรงเรียน เพื่อลดจำนวนนักเรียนในชั้นเรียน ในเด็กโตการเรียนออนไลน์ ต่อไปจะถือเป็นเรื่องปกติ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้ามาเร็วกว่าปกติ
ในเด็กประถมและมัธยมต้น จะปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนทางไกล ปัญหาจะอยู่ที่เด็กอนุบาล ในอดีตที่ผ่านมา พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน จะส่งลูกไปโรงเรียน และวันไหนลูกไม่ไปโรงเรียน พ่อแม่ก็จะเอาไปที่ทำงาน ต่อไปนี้ก็คงจะทำแบบนี้ไม่ได้ จะต้องมีการปรับกระบวนการเรียนการสอน ให้มีการพึ่งตัวเองมากขึ้น และมีการเรียนที่บ้านมากขึ้น
การปรับเปลี่ยนนี้ คงไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น จะเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก เพื่อลดการระบาดของโรค จนกว่าจะมีมาตรการในการควบคุมโรคมีประสิทธิผลมากกว่าปัจจุบัน
ในปีนี้ การประชุมวิชาการต่างๆได้ถูกงดหมด ผมเองได้จัดสัมมนาบรรยายทางวิชาการที่เรียกว่า WEBINAR ประสบผลสำเร็จมาก และมีต้นทุนที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดบรรยายทางวิชาการ ในการประชุม เช่นการประชุมของราชวิทยาลัย สมาคมทางการแพทย์ต่างๆ การบรรยายเสวนาสามารถถูกบันทึกไว้ ให้ผู้เข้ามาเรียนนักศึกษาการกำหนดเวลาที่เรากำหนดได้อุปสรรคที่จะต้องหาทางออกในเรื่องของการเรียนภาคปฏิบัติ การทำงานเป็นกลุ่ม จะต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในแต่ละชนิดของวิชาชีพ
ที่มา : ทวิตเตอร์ Nattakorn Devakula@KhunPleum