จากที่นางกุสุมาลวตี ศิริโกมุท อดีตส.ส.มหาสารคาม พรรคไทยรักไทย และพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่โจมตี นายนุรักษ์ มาประณีต อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น
ทั้งนี้อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่สมควร ไม่รู้กาลเทศะ และไม่เข้าใจบริบทของสังคมไทย พอคิดว่าตัวเองแน่ ตัวเองเก่ง เป็นฮีโร่ทางสังคมนั้น ต้องเข้าใจทุกคนมีต้นทุนทางสังคม การเหยียดหยามผู้อื่นว่าทำผลงานเพื่อจะได้มีสิ่งตอบแทน คือการเป็นองคมนตรีนั้นฟังดูรุนแรง และก้าวล่วงถึงสถาบันหลักของชาติ
“มันสะท้อนตัวตนของผู้พูดว่าคิดอะไรอยู่ แต่ก็เข้าใจว่าทำไมถึงได้โหวตสวนร่าง พ.ร.ก.ในสภา ที่ท้าทายสถาบัน ก็ทำมาแล้ว แต่การเหยียดหยามบุคคลอย่าง นายนุรักษ์ มาประณีต นั้นอยากบอกว่าช่วยทบทวนแนวคิดด้วย ตนเป็นเพื่อนร่วมเรียนหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับผู้บริหารระดับสูง สถาบันพระปกเกล้า รุ่น 7 (ปปร.7) กับ นายนุรักษ์
ท่านองคมนตรีเป็นคนดี ไม่พูดเยอะ สุขุม และไม่เคยแสวงหาผลประโยชน์ หรือต้องการตำแหน่ง เงินทองแลกเปลี่ยนทำอะไร มีหลักการกับเพื่อน แม้เป็นนักการเมือง มีอะไรท่านก็ไม่พูด นอกจากชี้แนะแบบกัลยาณมิตร และดำรงตนอย่างสง่างามและมีเกียรติ ทุกคนมีต้นทุนทางสังคมมาในระดับหนึ่ง จึงก้าวขึ้นมาได้ถึงจุดนี้ ก็อย่าดูหมิ่นกันเกินไป สิ่งที่ไม่สบายใจ คือ การวิจารณ์หลังโปรดเกล้าฯแล้ว แปลว่าอย่างไรและท้าท้ายใคร
ประเทศไทยอาจไม่เหมือนฝรั่งเศส คุณค่าและความจำเป็นในบริบทของสังคมไทยมันต่างกัน การโปรดเกล้าแต่งตั้งองคมนตรี ต้องถามว่ามีเจตนาอย่างไร เพราะกระบวนการใดซึ่งได้มาซึ่งองคมนตรี การบัญญัติในมาตรา 10 และมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญว่าให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีหลายคดีที่ตัดสินในช่วงที่ท่านนุรักษ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้นายปิยบุตรได้ประโยชน์ แต่ไม่กล่าวถึง เช่น คดีอิลลูมินาติ ที่ถูกกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง ก็ได้ยกคำร้อง และมีคดีของพรรคเพื่อไทย ให้ยุบพรรคเมื่อปี 2555 ในข้อหาล้มล้างการปกครอง ศาลให้ยกคำร้องเช่นกัน
นอกจากนี้ นางกุสุมาลวตี ยังกล่าวว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำในรูปองค์คณะ คำวินิจฉัยกลางจึงไม่ใช่ผลงานของใคร หรือความคิดของตุลาการคนใดคนหนึ่งคนเดียว การโพสต์ข้อความหลังจากมีพระบรมราชโองการแล้ว จึงมิบังควรอย่างยิ่ง ตราบใดที่เรายังอยู่ในประเทศไทย และเป็นพลเมืองไทย
สำหรับประวัติทางการเมืองของ นางกุสุมาลวตี ศิริโกมุท พ.ศ. 2544 และพ.ศ. 2548 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม สังกัดพรรคไทยรักไทย โดยชนะการเลือกตั้งได้เป็นส.ส. หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ย้ายไปลงสมัครกับพรรคเพื่อแผ่นดิน แต่ไม้ได้รับการเลือกตั้ง จึงย้ายกลับมาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย
ก่อนที่จะลงเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 ได้เป็น ส.ส. สมัยที่ 3 ในพ.ศ. 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อสังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 53 ต่อมาวันที่ 19 พ.ย. 2561 ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และปี2562 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคามสังกัดพรรคเพื่อชาติ แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง