จากที่เป็นประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากต่อการกระทำของตะวัน นำมาซึ่งหลายฝ่ายต้องออกมาท้วงติง และแสดงพลังปกป้องสถาบันฯ โดยเจ้าตัวอ้างสิทธิเสรีภาพ ที่ดูเหมือนว่าจะเกินชอบเขตต่อสถาบันหลักของประเทศ
ต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ศาลอาญา กรณีพนักงานสอบสวน สน.ดินแดน เดินทางมายื่นคำร้อง ฝากขัง น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 22 ปี และ นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร อายุ 23 ปี หรือ แฟรงค์ ผู้ต้องหาที่ 1-2 มาขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขัง ต่อมาทนายความยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว
โดย นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความผู้ต้องหา เปิดเผยว่า ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว น.ส.ทานตะวัน และนายณัฐนนท์ โดยพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์ในการกระทำของผู้ต้องหามีลักษณะไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม
หากให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจะไปก่อเหตุอันตรายลักษณะเดียวกันนี้ หรือประการอื่นอีกทั้งอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง ส่วนจะยื่นซ้ำหรือไม่ต้องปรึกษาผู้ต้องหาอีกครั้ง ในส่วนที่มีการยื่นคำร้องขอถอนประกันก็ทราบจากข่าวซึ่งผู้ต้องหายังมีคดีอื่นในศาลอาญา เเละศาลอาญากรุงเทพใต้
ขณะที่ สมชัย เลี้ยววาริณ หรือ วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัวทั้งภาพ และข้อความ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจบางโพสต์ว่า
“ตลอดเวลาเจ็ดสิบปีแห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงย่างพระบาทไปทุกตารางนิ้วทั่วประเทศ ทุกชนบท ทุกถิ่นทุรกันดาร ไม่มีจุดใดที่ทรงไปไม่ถึง ดูแลทุกข์สุขของราษฎร
บ่อยครั้งเงาร่างหนึ่งตามรอยเสด็จไปด้วย คือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หรือที่คนรุ่นผมเรียกติดปากว่า ‘พระเทพฯ’ เสด็จฯตามไปด้วยเสมอ แม้ว่าทรงต้องศึกษาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังจากสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์ ทรงศึกษาสาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออกจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และสาขาวิชาภาษาบาลี–สันสกฤต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิ่มเติม ก็ยังทรงเดินตามรอยพระบาทเสมอมา
ตลอดชีวิต ทรงทำงานเพื่อประโยชน์สุขของคนไทยเสมอมา
นั่นคือภาพที่คนไทยรุ่นผมจดจำได้
หนึ่งภาพชัดเจนกว่าหนึ่งล้านคำพูด
ผมโชคดีมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเทพฯหลายครั้ง แทบทุกครั้งคือการรับรางวัลวรรณกรรม ตั้งแต่รวมเรื่องสั้นรางวัลชมเชย เรื่องสั้นรางวัลดีเด่น ไปจนถึงตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ตลอดจนในงานหนังสือทุกปี จึงรับรู้แจ่มแจ้งว่าพระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องศิลปะ วรรณกรรมอย่างยิ่ง ทรงแต่งคำประพันธ์ต่างๆ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง
นอกจากนี้ยังทรงศึกษาภาษาจีน วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์จีน เสด็จไปเมืองจีนนับครั้งไม่ถ้วน ทรงอักษรจีน เป็นบุคคลที่ชาวจีนรักอย่างยิ่ง
นี่ก็คือ soft power ของจริง ทรงเป็นทูตวัฒนธรรมจากไทย นำเสนอวัฒนธรรมของเราไปนานาชาติ นานหลายสิบปีก่อนคำนี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ตลอดชีวิต ทรงแต่งานเพื่อแผ่นดิน ด้วยโครงการนับไม่ถ้วน ทั้งหมดเพื่อคนไทย ทั้งมวลเพื่อแผ่นดินไทย
ทรงเป็นหัวใจของคนทั้งชาติ
ดังนั้นคนไทยรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเห็นภาพนั้น ไม่เคยอ่านประวัติศาสตร์ จึงอาจมิรับรู้ว่าพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระราชวงศ์ เป็นของจริง มิใช่ภาพลวงตา อาจไม่รู้ว่าเมืองไทยรอดมาถึงวันนี้ได้อย่างไร
สิ่งที่คนไทยรุ่นใหม่ควรกระทำคือ ศึกษาให้รู้ก่อนเชื่ออะไร และที่สำคัญที่สุดคือรู้จักกตัญญูรู้คุณ ต่อผู้ที่มีพระคุณต่อแผ่นดิน
เพราะปราศจากความรู้จริง เดินมุ่งไปข้างหน้าก็อาจเดินถอยหลัง ปราศจากความกตัญญูรู้คุณ อุดมคติสูงส่งแค่ไหนก็ไร้ค่า”