พจนา ‘ทิศทางไทย’ ตอนที่ ๕ โอกาสการเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๓ เมื่อมองจากหลักการผลประโยชน์เปรียบเทียบ
โดย : ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย
ก่อนทำสงครามโลกครั้งที่ ๑ การทำสงครามเป็นสิ่งเย้ายวนใจสำหรับชนชั้นนำทั่วโลกเพราะก่อนหน้านี้พวกเขาได้เห็นตัวอย่างมากมายมาก่อนว่าสงครามที่ได้รับชัยชนะ มันช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจรุ่งเรืองและส่งเสริมอำนาจการเมืองของประเทศที่ชนะสงครามอย่างไรบ้าง
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พวกชนชั้นนำทั้งหลายในวอชิงตันลอนดอนและเบอร์ลินล้วนรู้แน่ชัดในปี ๑๙๑๔ หรือก่อนทำสงครามโลกครั้งที่ ๑ ว่าสงครามที่ประสบชัยชนะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะสามารถได้ประโยชน์จากมันได้มากแค่ไหน
แม้ก่อนทำสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ทฤษฎีสมคบคิดว่าด้วยการวางแผนก่อสงครามโลกของพวกชนชั้นนำในประเทศมหาอำนาจจึงพอฟังขึ้นในการวิเคราะห์อธิบายการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1และครั้งที่ 2และการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจหลังสงครามโลกทั้งสองครั้ง
ในฐานะเป็นทฤษฎีที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจอย่างง่ายๆต่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนยุ่งเหยิง
แต่ดูเหมือนว่าทฤษฎีสมคบคิดจะกลายเป็น เรื่องเล่าที่เหลวไหลไปเสียแล้วในการทำความเข้าใจอนาคตของโลกหลังจากนี้
ทั้งนี้ก็เพราะว่าแม้แต่พวกชนชั้นนำทั่วโลกในปัจจุบัน(๒๐๑๙) ก็ไม่สามารถประเมินได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ ๓ ที่ประสบชัยชนะจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรและพวกเขาจะสามารถได้ประโยชน์จากการก่อสงครามโลกครั้งที่ ๓ ทางกายภาพแบบเดียวกับสงครามโลกสองครั้งที่แล้วจริงหรือ
นอกจากนี้ ชัยชนะที่สหรัฐฯ มีเหนือสหภาพโซเวียตในปี ๑๙๙๐ จนนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ก็เป็นชัยชนะที่ไม่ต้องมีการเผชิญหน้าทางทหารครั้งใหญ่เลย
สหรัฐฯเสียอีกที่ผลาญเงินทางการทหารอย่างมหาศาลไปกับการรบในอิรักและอาฟกานิสถานหลังจากนั้น ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น จีนกลับผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้ในช่วงเวลาแค่ยี่สิบปีหลังจากเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๑โดยพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่ใช้อาวุธทุกทางและมุ่งเน้นไปที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยค่อยๆพัฒนาศักยภาพทางการทหารตามมาด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้คือการนั่งอยู่บนภูดูพวกเสือขย้ำกันเอง
ทั้งนี้เพราะการจะชนะในสงครามโลกครั้งที่ ๓และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง
ในอดีตในสมัยสงครามโลกสองครั้งก่อน ทรัพย์สินทางเศรษฐกิจส่วนมากเป็นวัตถุจึงสามารถสร้างความร่ำรวยโดยตรงด้วยการเข้าไปพิชิตได้
แต่ในปัจจุบัน ทรัพย์สินหลักในทางเศรษฐกิจคือความรู้เชิงเทคนิคและความรู้เชิงองค์กรอย่างระบบอัลกอริทึม ทำให้ไม่สามารถพิชิตเอาความรู้โดยอาศัยสงครามเหมือนในอดีตได้
นอกจากนี้สงครามนิวเคลียร์กับสงครามไซเบอร์จะเป็นรูปการหลักของสงครามโลกครั้งที่ ๓ ถ้าจะเกิดขึ้น นี่เป็นรูปแบบสงครามที่สร้างความเสียหายหนักแต่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้น้อยหลังชนะสงคราม มิหนำซ้ำโอกาสที่จะฆ่าตัวตายรวมหมู่หรือย่อยยับทั้งคู่ก็สูงมากด้วย
ปัจจุบันโลกนี้ซับซ้อนกว่าเป็นเพียงกระดานหมากรุกหรือกระดานหมากล้อมที่ผู้กุมอำนาจสองฝ่ายเดินหมากแข่งกันและปัจจัยที่คงบคุมไม่ได้ในปัจจุบันก็มีมากเกินกว่าจะอธิบายได้ง่ายๆด้วยทฤษฎีสมคบคิดเหมือนอย่างในอดีต
สิ่งนี้ทำให้การเดินหมากงี่เง่าของผู้นำในชาติมหาอำนาจแม้ยังมีความเป็นไปได้อยู่แต่ก็ทำได้ยากขึ้นกว่าแต่ก่อนเพราะสงครามโลกครั้งที่ 3 หลังจากนี้จะเป็นหายนะสำหรับทุกคนและสำหรับเซเปียนส์โดยไม่มีข้อยกเว้น
ผู้คนที่ยังหลงเชื่อในวาทกรรม”สงครามที่เป็นธรรม” และดึงดันเลือกข้างสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามทฤษฎีสมคบคิดหรือตามการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อหลัก … คือผู้คนที่ถูกปั่นหัวและถูกล้างสมองอย่างน่าสมเพช
การให้ปัญญาผู้คนและเตือนสติผู้คนให้ตื่นรู้และรู้ทันการลวงล่อทางวาทกรรมทั้งหลายทั้งปวง คืองานหลักของสถาบันทิศทางไทย