พจนา ‘ทิศทางไทย’ ตอนที่ ๔ ความเสี่ยงระดับโลก ๓ เรื่องกับข้อจำกัดของแนวคิดชาตินิยม

0

พจนา ‘ทิศทางไทย’ ตอนที่ ๔ ความเสี่ยงระดับโลก เรื่องกับข้อจำกัดของแนวคิดชาตินิยม

โดย : ดร.สุวินัย ภรณวลัย  ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ  สถาบันทิศทางไทย

 

เวลามองอนาคตแบบนักยุทธศาสตร์ เราต้องมองจากแว่นหลายแว่นทับซ้อนกันไปใน “ความจริงอันเป็นหนึ่งเดียวแต่หลายแง่มุม” แล้วเราจะเห็นในสิ่งที่คนทั่วไปไม่เห็นหรือใส่ใจที่จะมอง

 

เมื่อเรามองอนาคตจากมุมมองของความเสี่ยงในระดับโลก เราคิดว่ามี “ความเสี่ยงระดับโลก” 3 เรื่องด้วยกันที่ดำรงอยู่พร้อม ๆ กัน และการคลี่คลายของแต่ละเรื่องไม่ว่าในทางร้ายหรือทางดีจะเป็นตัวกำหนดอนาคตในช่วง ๑๐-๓๐-๕๐ ปีข้างหน้า

 

ความเสี่ยงระดับโลก  ๓  เรื่องที่ว่านั้นได้แก่

 

(๑) ความเสี่ยงจากสงครามโลกครั้งที่สาม (รวมทั้งสงครามตัวแทน) อันเป็นผลมากจากการแข่งขันช่วงชิงการเป็นจ้าวโลกของพวกประเทศมหาอำนาจ

 

(๒) ความเสี่ยงจากการล่มสลายทางระบบนิเวศ รวมทั้งหายนะจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ(ภาวะโลกร้อน)

เมื่อเซเปียนส์ได้ยกระดับตัวเองจาก ฆาตกรต่อเนื่องทางนิเวศวิทยาในอดีต กลายมาเป็น ฆาตกรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางนิเวศวิทยา อย่างในปัจจุบัน

 

(๓) ความเสี่ยงจากการดิสรับชันของเทคโนโลยี

 

ในขณะที่ความเสี่ยงเรื่องสงครามโลกครั้งที่สามกับความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการคุกคามเฉพาะความอยู่รอดทางกายภาพของมนุษยชาติ

 

แต่ดิสรับทีฟเทคโนโลยีที่ผนวกเอไอเข้ากับไบโอเทคหรือชีววิศวกรรม มันอาจจะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติแห่งตัวตนของมนุษย์เองในระดับรากเหง้าก็เป็นได้ แน่นอนว่าความเสี่ยงแบบนี้มันคงไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เมื่อเทียบกับความเสี่ยงสองเรื่องแรก

 

แต่ความเสี่ยงอันที่สามนี้จะมีมากขึ้นแน่ ๆ ในปี ๒๐๕๐ เมื่อเกิดซิงกูลาริตีทางเทคโนโลยี หรือ เกิด “อภิเอไอ” ที่มีพลังเชาว์ปัญญาเหนือกว่าพลังสมองของมนุษย์ทั้งโลกอย่างเทียบกันไม่ได้ และพวกเซเปียนส์ต้องพึ่งการตัดสินใจทุกเรื่องจากอภิเอไอตัวนี้

 

เมื่อถึงตอนนั้น ประเด็นการอัพเกรดมนุษย์ โดยรวมร่างมนุษย์เข้ากับอภิเอไอ เหมือนอย่าง “ไอออนแมน” (Iron Man) และการพยายามยืดอายุขัยของมนุษย์ให้เป็นอมตะ รวมทั้งการสร้างรูปแบบชีวิตใหม่ๆ โดยเฉพาะชีวิตอนินทรีย์ (inorganic life) อาจกลายเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับกันได้อย่างหน้าตาเฉยก็เป็นได้ในหมู่วรรณะชนชั้นนำผู้มั่งคั่งและทรงอำนาจทางเทคโนโลยีจำนวนน้อยนิดบนโลกใบนี้ (โฮโมดีอุส)

 

ซึ่งเมื่อถึงตอนนี้ พวกเซเปียนส์จำนวนมากกว่าค่อนโลก คงกลายเป็นวรรณะหรือ “ชนชั้นที่ไร้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ”ไปแล้ว

 

อันที่จริงความเสี่ยงแต่ละเรื่องในความเสี่ยงสามเรื่องนี้ มันก็ใหญ่พอที่จะคุกคามอารยธรรมของมนุษย์ได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว

 

แต่ที่เราอยากจะบอกและเตือนก็คือ  ในช่วงสามสิบปีหลังจากนี้มีแนวโน้มสูงมากที่ความเสี่ยงทั้งสามเรื่องนี้มันจะคุกคามชาวโลกพร้อม ๆ กัน  หรือส่งผลเร่งความเสี่ยงแต่ละเรื่องให้แก่กันและกัน

 

เป็นเรื่องน่าเสียใจที่ต้องบอกว่า ลำพังแค่ความเป็นชาตินิยมมันไม่เพียงพอที่จะรับมือกับความเสี่ยงระดับโลกทั้งสามเรื่องนี้ได้ เราจำเป็นต้องมีมุมมองในระดับโลก และมุมมองในระดับจักรวาลด้วยซ้ำในการนำพาชาวไทยและชาติไทยให้อยู่รอด

 

เราสามารถมีมุมมองในระดับโลกและระดับจักรวาลได้หรือไม่ โดยที่ยังธำรงค์อัตลักษณ์ของชาติไทย ของความเป็นไทย และของคนไทยไว้อย่างเหนียวแน่น ? นี่คือโจทย์ใหญ่ของสถาบันทิศทางไทย

 

หมายเหตุ : ข้อเขียนชุดนี้เป็นข้อสรุปของผมจากการรีวิวหนังสือ ” ๒๑ บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ ๒๑” ของยูวัล โนอาห์ แฮรารี จากมุมมองของผมเอง เพื่อประยุกต์ใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์วิชาการของสถาบันทิศทางไทยหลังจากนี้

 

… ถ้าเป็นไปได้ผมอยากให้คนไทยทั้งประเทศได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทุกคน เพื่อต่อยอดความคิดและร่วมกันค้นหากับกำหนดทิศทางไทยหลังจากนี้